จากการเสวนาวิชาการเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 9 ในประเด็นเรื่องการดูแลเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย สู่การจัดการเชิงระบบที่ยั่งยืน จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ฐานะประธานการเสวนา กล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนมองว่าคุณภาพเด็กและเยาวชนของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ แต่ความจริงเรื่องของเด็กด้อยโอกาสก็เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะจากข้อมูลจะพบว่าประเทศไทยมีเด็กด้อยโอกาสอยู่นับหลายล้านคน ดังนั้น การพูดถึงการศึกษาและการพัฒนาจะพูดแต่เรื่องการเรียนรู้อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะการที่พ่อแม่ ครอบครัวมีฐานะยากจน รวมถึงความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กด้อยโอกาส
"จากผลการวิจัยในต่างประเทศ พบข้อมูลว่า เรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้ ปัญหาสุขภาพ การพัฒนาสังคม มีความสัมพันธ์กันเกือบเป็นเส้นตรง โดยสหรัฐอเมริกามีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ส่วนญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย เหลื่อมล้ำน้อยที่สุด ส่วนการแก้ปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชนนั้น งานวิจัยบอกว่าต้องนึกถึงการสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยหันมาทำเรื่องความเป็นธรรม เพื่อนำไปสู่นโยบายสาธารณะ เพราะวันนี้เรื่องเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทยเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งต้องดูเชิงระบบว่าจะทำอะไรได้บ้าง" ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
ดร.ไกรยส ภทราวาท นักเศรษฐศาสตร์ สสค.กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำกำลังเป็นมะเร็งของสังคมที่ต้องการการแก้ไข มีคำถามเกิดขึ้นว่าทำไมสังคมสร้างยาแก้ไขออกมารักษาได้หลายโรคแต่ยังไม่มียารักษาโรคของความเหลื่อมล้ำได้ การแก้ปัญหาด้วยการย้ายทรัพยากรที่ปลายทางกับงบประมาณมหาศาลไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง หากปล่อยไว้ก็จะกลายเป็นมะเร็งที่ลุกลาม จึงอยากให้รัฐบาลมีนโยบายและสนับสนุนงบประมาณมาแก้ไข รวมถึงลงทุนในมนุษย์สังคมให้มากขึ้น อย่าปล่อยให้ลุกลามแล้วมาแก้ด้วยงบประมาณที่มากมายมหาศาล
ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวว่า ข้อมูลเด็กด้อยโอกาสที่พบในประเทศไทยมีกว่า 5 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของเด็กทั่วประเทศ เฉลี่ย 5-7 หมื่นคนต่อจังหวัด หรือราว 400-500 คนต่อตำบล โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ 1. กลุ่มเด็กที่ต้องการดูแลมิติเรื่องการแพทย์ สุขอนามัย รวมถึงการออกแบบการเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กพิการ บกพร่องทางการเรียนรู้ (LD/สมาธิสั้น ออทิสติก) 2. ภาวะด้อยโอกาสเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ 3. ภาวะด้อยโอกาสจากปัญหาสังคม ประกอบด้วยกลุ่มแม่วัยรุ่น โดยจากข้อมูลตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ 4. กลุ่มเด็กที่มีปัญหาเฉพาะ เช่น กลุ่มที่ถูกใช้แรงงานต่างด้าว เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น ซึ่งหากครอบครัว โรงเรียน ชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการเข้าไปร่วมกันดูแลก็จะกลายเป็นความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจนับสิบล้านบาทต่อตำบลและนับพันล้านบาทต่อจังหวัดต่อปี ยังไม่รวมถึงความสูญเสียทางสังคมอีกมหาศาล
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 39 views