สปสช.รับ รพ.เอกชนติงได้ค่ารักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินน้อย 'วิทยา'หวั่นกระทบนโยบาย สั่งปลัด สธ.เร่งหาทางออก ด้านกระทรวงแรงงานทบทวนอัตรา'เงินสมทบ'โครงการประกันสังคมถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ประเมินผลการดำเนินงานนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวไม่ถามสิทธิ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าประเด็นที่ยังมีปัญหาและอยู่ระหว่างหาทางแก้ไข คือ กรณีโรงพยาบาลเอกชนติงเรื่องการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มโรคร้ายแรง (ดีอาร์จี) ที่ระดับละ 10,500 บาท เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ตัวเลขที่สะท้อนถึงต้นทุนการรักษาที่แท้จริง แต่เห็นว่าควรเก็บตามราคาเรียกของโรงพยาบาล ซึ่งเรื่องนี้นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ได้มอบหมายให้ปลัด สธ.เจรจาตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

"นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ต้องแก้ไขและทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลต่างๆ คือ การเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมาผู้ป่วยหลายรายยังถูกเรียกเก็บเงินจากหน่วยบริการ ทั้งๆ ที่มีเงื่อนไขอยู่แล้วว่าหากเข้าข่ายฉุกเฉินต้องให้บริการฟรี ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น" นพ.วินัยกล่าว และว่า สำหรับการประเมินผลการดำเนินการในรอบ 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-วันที่ 31 สิงหาคม 2555 พบว่ามีผู้ใช้บริการ 5,819 ราย แบ่งเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค 3,279 ราย คิดเป็นผู้ใช้บริการร้อยละ 56.35 จากประชากรในระบบ 48,598,058 ราย สิทธิประกันสังคม 502 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.63 จาก 9,969,100 ราย สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 2,025 ราย คิดเป็นร้อยละ 34.80 จาก 4,947,397 ราย ส่วนสิทธิอื่นๆ อีก 13 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.22 จาก 1,863,040 ราย ขณะนี้ สปสช.จ่ายสำรองให้โรงพยาบาลไปแล้ว 98,103,385 ล้านบาท

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากทราบรายละเอียดของผลการประเมินเรียบร้อยแล้ว จะนัดผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนเจรจาเพื่อหาทางออกต่อไป

วันเดียวกัน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการศึกษาผลกระทบจากแนวคิดระบบประกันสังคมถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและแรงงานนอกระบบ เช่น แม่บ้าน คนขับรถแท็กซี่ คนขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เกษตรกร ฯลฯ เข้าสู่ระบบดังกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการตัดลดสิทธิประโยชน์บางส่วนออก เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่สมาชิก และลดจำนวนการส่งเงินสมทบจาก 550 บาทต่อเดือน ให้น้อยลงตามความพร้อมของแต่ละคน ยอมรับว่าการศึกษาหาแนวทางนี้มาจากเสียงสะท้อนของแรงงานนอกระบบที่เห็นว่าอาจไม่มีความสามารถในการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว เพราะมีรายได้ไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในหลักการ ประชาชนที่เข้าร่วมกองทุนประกันสังคมถ้วนหน้าจะได้รับเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพมากกว่ากองทุนการออมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายถึง 550 บาทต่อเดือน แต่ขอเวลาพิจารณาว่าอัตราที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าใด

--มติชน ฉบับวันที่ 4 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--