สปส.ลิงก์ข้อมูล สปสช.เอื้อประโยชน์'ผู้ประกันตน'ใช้สิทธิข้ามกองทุน รับมือขยายสิทธิรักษามาตรฐานเดียวกลุ่มโรคไต-ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (เลขาธิการ สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความพร้อมในการรองรับการขยายสิทธิการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อความเท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไปว่า ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้จัดทำระบบข้อมูลออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์และโรคไตเข้ากับระบบข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ป่วยในกลุ่มโรคดังกล่าวซึ่งออกจากกองทุนประกันสังคม เช่น กรณีผู้ประกันตนเกษียณอายุจากการทำงานในสถานประกอบการ สามารถข้ามสิทธิไปใช้บริการรักษาพยาบาลของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ทันที
เลขาธิการสปส.กล่าวว่า สำหรับกรณีที่นายจ้างส่งเงินสมทบล่าช้า ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถใช้สิทธิเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมได้นั้น เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวไม่กระทบต่อการใช้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของลูกจ้าง เพราะนับตั้งแต่วันที่นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างเพื่อส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ลูกจ้างก็สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลได้ ยกเว้นกรณีลูกจ้างลาออกแล้วไม่ได้แจ้งต่อ สปส.ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของลูกจ้าง
"นายจ้างมีหน้าที่จะต้องหักเงินเดือนลูกจ้างเพื่อจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม หากนายจ้างไม่จ่ายก็ไม่กระทบ เพราะ สปส.ให้สิทธิในการรักษาพยาบาลลูกจ้างอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม นายจ้างรายใดไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้แก่ลูกจ้าง สปส.จะไปเช็กบิลกับนายจ้างทีหลัง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม นายจ้างมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" เลขาธิการ สปส.กล่าว
ส่วนกรณีที่ สปส.พบเจ้าหน้าที่กองคลังของ สปส.ทุจริตการเบิกค่ารักษาพยาบาลในวงเงิน 500,000 บาท นั้น นายจีรศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่เบื้องต้นได้มีคำสั่งให้พนักงานคนดังกล่าวออกจากการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน และได้แต่งตั้งนายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการ สปส. เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งระยะเวลาในการสอบสวนข้อเท็จจริงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะสรุปได้เมื่อใด ต้องขึ้นอยู่กับการสอบพยาน เนื่องจากพยาน และคณะกรรมการ มีเวลาว่างไม่ตรงกัน ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการสอบสวนนานพอสมควร
--มติชน ฉบับวันที่ 3 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 2 views