โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ อย่างโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช่เอดส์ ถือเป็นโรคใหม่ที่วงการแพทย์ของโลกเพิ่งค้นพบ
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) นำโดย ศ.พญ.เพลินจันทร์ เชษฐ์โชติศักดิ์ หัวหน้าทีมวิจัย รศ.นพ.ภิรุญ มุตสิกพันธ์ รศ. พญ.ศิริลักษณ์ อนันณัฐศิริ สาขาวิชาโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ และรศ.ดร.วีระพงษ์ ลุลิตานนท์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มข. ทำวิจัยร่วมกันระหว่างแพทย์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ คือ ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน ในเรื่องโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช่โรคเอดส์
ศ.พญ.เพลินจันทร์บอกว่า จากการดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบเรื้อรังที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลืองหลายราย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 ต่อมาพบว่าผู้ป่วยเหล่านั้นไม่ได้ติดเชื้อวัณโรค แต่เป็นการติดเชื้อกลุ่มวัณโรคที่ไม่ใช่วัณโรค เรียกว่า nontuberculous mycobacteria (NTM) ผู้ป่วยบางรายมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราอื่นร่วมด้วย และผู้ป่วยบางรายมีภาวะผิวหนังอักเสบเป็นๆ หายๆ
ต่อมาในปีพ.ศ.2543 ทีมนักวิจัยได้รวบรวม ผู้ป่วยได้ 16 ราย และรายงานในวารสารทางการแพทย์ Clinical Infectious Disease ว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการทางคลินิกที่ไม่เคยพบมาก่อน ปีพ.ศ.2550 ทีมนักวิจัยได้รวบรวมผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อกลุ่มวัณโรคฯ NTM จากโรงเรียนแพทย์ 4 แห่ง ได้แก่ มข. ศิริราชพยาบาล รามาธิบดี และม.เชียงใหม่ รวม 129 ราย เป็นการรายงานการติดเชื้อกลุ่มนี้มากที่สุดในโลกโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช้โรคเอดส์ มีอาการทางคลินิกต่างจากโรคเอดส์ คือ ไม่ได้ติดเชื้อวัณโรคเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่มีความเหมือนกับโรคพุ่มพวง หรือโรค SLE คือร่างกายสร้างสารขึ้นมายับยั้งเซลล์ของตัวเองเหมือนกัน แต่โรค SLE ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีมายับยั้งเซลล์พวกไต ทำให้ไตผิดปกติ กระทบเม็ดเลือดขาวหรืออวัยวะต่างๆ จะไม่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อ แต่โรคภูมิคุ้ม กันบกพร่องที่ไม่ใช่เอดส์ ร่างกายสร้างสารขึ้นมายับยั้งอินเตอร์เฟอรอนแกรมมาของตัวเอง คือ สร้างขึ้นมาทำลายเซลล์ของตัวเองเช่นกัน โรคนี้ส่วนใหญ่จะพบมากในชาวเอเชีย
"โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน เชื้อกลุ่มวัณโรคฯ (NTM) ที่พบบ่อยในผู้ป่วยเหล่านี้ก็ไม่ติดต่อระหว่างคน การรักษาคือ การรักษาโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะการรักษาการติดเชื้อกลุ่มวัณโรคฯ (NTM) ผู้ป่วยบางรายหายขาดได้ แต่มักต้องรักษาเป็นเวลานาน ในรายที่ติดเชื้อฉวยโอกาสก็ให้การรักษาโรคเหล่านั้นได้ ส่วนการรักษาเพื่อลดการสร้างสารต่อต้านอินเตอร์เฟอรอนแกรมมาต้องรอการศึกษาวิจัยในอนาคต"
--ข่าวสด ฉบับวันที่ 1 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 1873 views