"ไทยแลนด์ เมดิคัล ฮับ" จัดเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลสนับสนุน ยิ่งจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (AEC) ในปี 2558 แล้ว ดูเหมือนว่าการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ยิ่งดูชัดเจนขึ้น แม้หลายฝ่ายจะกังวลถึงการพัฒนาบุคลากรที่อาจไม่เพียงพอ และจะส่งผลต่อการบริการสุขภาพภายในประเทศก็ตาม เพราะงานนี้ภาครัฐอย่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ออกมาย้ำตลอดว่า ไม่ส่งผล เนื่องจากมีการผลิตบุคลากรภายในประเทศอยู่แล้ว
เรื่องนี้คงต้องจับตา แต่หากมองในมุมของการเดินหน้าเตรียมพร้อมสู่เออีซีด้วยการพัฒนาให้ไทยเป็น เมดิคัล ฮับ นั้น ในส่วนของภาครัฐก็มีการสนับสนุนภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาพำนักของชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาในประเทศจากเดิม 30 วัน เป็น 90 วัน โดยไม่ต้องทำวีซ่า และสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้หลายครั้ง รวมกันแล้วไม่เกิน 1 ปี
จริงๆ แล้วการเดินหน้าสู่เมดิคัล ฮับ นั้น ด้านภาคเอกชนมีการเตรียมพร้อมมานาน และมีการพัฒนามาตลอด เนื่องจากตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแข่งขันกันอย่างหนัก ยิ่งในสถานพยาบาลเอกชนอันดับต้นๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง ที่มุ่งเดินหน้ารับบริการในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น ยิ่งทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องถีบตัวเองชนิดทุ่มทุนมหาศาล ซึ่งการนำเทคโนโลยีอันทันสมัย เข้ามารองรับการบริการแก่ผู้ป่วย นับเป็นเป้าประสงค์ของโรงพยาบาลใน การยกระดับตัวเองสู่สากล
"การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจและยอมรับในระดับสากล และยิ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้นอกเหนือจากการประชุมแบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ หรือการประชุมแพทย์ทางไกลแล้ว ยิ่งได้รับการยอมรับ การนำ 'หุ่นยนต์จัดยาอัจฉริยะ' มาใช้ในวงการแพทย์จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทาง ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีการนำมาใช้หลายร้อยตัว ขณะที่ทวีปเอเชียยังไม่มี และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในเอเชีย" ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ผู้อำนวยการปฏิบัติการโรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงการพัฒนาฮับด้านการแพทย์
เขาอธิบายเพิ่มว่า การนำเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับมาใช้ ย่อมหมายถึงความน่าเชื่อถือที่จะเกิดขึ้น ยิ่งไทยมีการสนับสนุนเมดิคัล ฮับ แล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเทคโนโลยี ทันสมัยมาไว้บริการผู้ป่วย โรงพยาบาลจึงได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยการนำเข้าหุ่นยนต์จัดยาอัจฉริยะ รุ่น EV 220 (Smart Dispensing Robot EV 220) และรุ่น PROUD รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท มาช่วยแพทย์ในการจัดยา และยังช่วยเภสัชกรอ่านใบสั่งยา
"ที่ผ่านมา มักเกิดปัญหาเภสัชกรอ่านลายมือแพทย์ไม่ถูก อ่านผิด ย่อมหมายถึงสั่งยาผิด ต้องมีการตรวจทานทำให้เสียเวลา ขณะเดียวกัน การที่เภสัชกรต้องจัดยาเองยิ่งสิ้นเปลืองเวลา แทนที่เภสัชกรจะสามารถใช้เวลาในการวิจัยต่างๆ ที่สำคัญวิธีนี้ยังลดขั้นตอนการทำงานให้กับแพทย์ เจ้าหน้าที่ เพิ่มเวลาดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น" ผศ.นพ.ก่อพงศ์กล่าว
หุ่นยนต์สมองกลดังกล่าวจะเริ่มทำงานเมื่อแพทย์สั่งยาผ่านระบบคอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาล หรือแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน เชื่อมโยงข้อมูลไปยังห้องยาเภสัชกร และประมวลผลผ่านซอฟต์แวร์ของ หุ่นยนต์ด้วยบาร์โค้ด ซึ่งสามารถบรรจุยาให้กับผู้ป่วย ได้อย่างถูกต้องแม่นยำตามใบสั่งของแพทย์ ก่อนส่งมอบให้กับผู้ป่วย โดยจะมีฉลากยาของผู้ป่วยที่ถูกต้องติดอยู่บนขวดยา ซึ่งมีความปลอดภัยแน่นหนาเป็นพิเศษ เพิ่มความปลอดภัยจากมือเด็ก นอกจากนี้ยังสามารถนับยาและจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ลดความผิดพลาดที่เกิดจากตัวบุคคล และขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินงาน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาในการดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพให้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลในระยะยาว
ระบบนี้ได้เริ่มใช้แล้วกับผู้ป่วยนอก และในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะขยายโดยนำหุ่นยนต์จัดยาอัจฉริยะ รุ่น PROUD ไปจัดยาสำหรับผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาล ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงไม่แพ้กัน สามารถนับและจ่ายยาอัตโนมัติ เพิ่มความปลอดภัยสูงสุดสำหรับการบริหารจัดการยาผู้ป่วยใน หุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถบรรจุยาได้กว่า 200 รายการ และมีระบบจัดเก็บปลอดความชื้น ที่สำคัญตัวยาที่ไวต่อแสงจะไม่ถูกบรรจุในหุ่นดังกล่าว จึงมั่นใจในความปลอดภัยได้
หุ่นยนต์จัดยาเป็นเพียงตัวอย่างในการเดินหน้าของภาคเอกชนสู่การเป็นเมดิคัล ฮับ ของไทย ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะรองรับผู้ป่วยที่ไหลเข้ามาใช้บริการในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เข้ามาเฉพาะโรงพยาบาลนี้แห่งเดียวก็เป็นแสนรายแล้ว จึงไม่น่าแปลกที่สถานพยาบาลภาครัฐหลายแห่ง โดยเฉพาะในโรงเรียนแพทย์จะเดินตามรอย
หวังเพียงว่าการเดินหน้าให้เท่าทันเทคโนโลยี จะไม่ทิ้งผู้ป่วยไทยที่ปัจจุบันยังมีปัญหาการเข้าถึงการบริการมาตลอด...
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 29 กันยายน 2555
- 22 views