นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากมาใช้บริการร.พ.ในสังกัดกทม. คิดเป็นร้อยละ 30 แต่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ ทำให้กทม.ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี โดยบางปีต้องใช้งบประมาณกว่า 800 ล้านบาท ขณะที่ปี 2554 ต้องใช้งบฯ 300-400 ล้านบาท ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวทำให้แพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ต้องรับภาระอย่างหนักจนขอลาออกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรดังกล่าว
กทม.ได้ดำเนินการจ้างแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ทำงานนอกเวลา หรือพาร์ตไทม์ ประมาณ 1,000 อัตรา เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนในโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 8 แห่ง โดยจะชดเชยตำแหน่งที่ขาดหายไปจำนวน 100 อัตรา ต่อ 1 โรงพยาบาล เพื่อให้บริการกับประชาชนอย่างทั่วถึง เนื่องจากการเปิดให้บริการตามสิทธิกองทุนประกันสุขภาพ แบ่งเป็น 3 กองทุน ได้แก่ 1.กองทุนสวัสดิการข้าราชการ 2.กองทุนประกันสังคม และ 3.กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ส่งผลให้ร.พ.กทม.ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยเฉพาะโรคที่มีการใช้ยาในราคาสูง เช่น โรคมะเร็ง รวมทั้งโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคไต
นอกจากนี้ หลังจากร.พ.รัฐและเอกชนได้เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ โดยได้กระจายผู้ป่วยไปยังคลินิกต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยนอกนั้น แต่ร.พ.ในสังกัดกทม.ต้องรับผู้ป่วยทุกรายที่มีความประสงค์จะเข้ามาใช้บริการ โดยไม่สามารถปฏิเสธได้ ทำให้มีประชาชนมาใช้บริการประมาณ 16,500 คนต่อวัน โดยในปี 2554 มีผู้มาใช้บริการทั้งสิ้น 3,023,522 คน ส่งผลกระทบต่ออัตราบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 5,155 อัตรา
ที่มา: นสพ.ข่าวสด วันที่ 27 กันยายน 2555
- 2 views