กรมควบคุมโรคตั้งชื่อไวรัสจากซาอุฯ ว่า "โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012" ไม่พบการระบาด แต่ออก 6 มาตรการตั้งรับ เข้มทำเอกสาร 3 ภาษาแจกนักท่องเที่ยวเข้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลางที่เข้ามาเดือนละ 1 หมื่นคนพร้อมระดมทีมแพทย์ดูแลผู้แสวงบุญ เมืองซาอุฯ 15,000 คน ถึงกลับเมืองไทยแล้วจะต้องติดตามอาการต่ออีก 10 วัน
ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ เมื่อวันที่26 กันยายน 2555 เวลา 11.30 น. ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ในฐานะประธานที่ประชุม พร้อมด้วย นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผอ.สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ ศ.พิเศษ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุทวัฒนะ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ผู้แทนจากศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข ได้จัดประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเชื้อไวรัสโคโรนา
โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรนาเป็นไวรัสตัวเดิมที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ตั้งแต่เป็นหวัดอ่อนๆ ไปจนถึงทำให้เกิดโรคซาร์ส ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วยเพียง 2 ราย คือ ชาวซาอุดีอาระเบียวัย 60 ปี เสียชีวิตไปแล้ว โดย จากการแยกเชื้อในโรงพยาบาลซาอุดีอาระเบีย พบว่าเป็นไวรัสที่คล้ายกับที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ และอีก 1 รายเป็นชาวกาตาร์ อายุ 49 ปี ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศซาอุดีอาระเบีย และป่วยจนต้องนอนรักษาตัวที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ แต่อาการทรุดลงจนต้องส่งไปรักษาต่อที่ห้องไอซียู ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งจากการสอบสวนโรคของกรมควบคุมโรคประเทศอังกฤษ พบว่าเป็นเชื้อโคโรนาที่คล้ายคลึงกัน และเมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบกับโรคซาร์ส พบว่าเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน แต่ไม่มีความแตกต่างกันมาก
เมื่อประเมินจาก2 กรณีแล้วพบว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรง ที่สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัส แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าคนใกล้ชิด หรือผู้ที่ต้องสัมผัสโรคกับผู้ป่วยทั้ง 2 รายได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าวเลย ในขณะที่ชาวอังกฤษที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศซาอุดีอาระเบียก็ยังไม่พบว่ามีใครเจ็บป่วยจากเชื้อนี้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อเนื่องว่าจะระบาดหรือไม่
"ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์สนั้นมาจากค้างคาว ดังนั้นไวรัสในกลุ่มโคโรนาน่าจะมีที่มาจากค้างคาว หนู และสัตว์อื่นๆแต่ปัจจุบันการสอบสวนยังไม่ได้ไปถึงตัวค้างคาว และไม่สามารถบอกได้ว่าเชื้อตัวนี้มีอยู่ที่ประเทศใด เราะยังไม่มีความชัดเจนอะไร" ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
ด้าน นพ.คำนวณกล่าวว่า เพื่อป้องกันการสับสน ที่ประชุมนักวิชาการวันนี้จึงมีมติให้เรียกชื่อไวรัสตัวใหม่นี้ว่า "โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012" โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือไว้ 6 แนวทางเช่นเดียวกับกรณีที่เคยเกิดการระบาดของโรคซาร์ส คือ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา โดย จะใช้นิยามของผู้ป่วยตามนิยามขององค์การอนามัยโลก ซึ่งกำหนดให้เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศซาอุดีอาระเบีย และมีไข้จนต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน 2.การเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งยืนยันว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความพร้อมในการตรวจหาเชื้อชนิดนี้แน่นอน อีกทั้งทางองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเรื่องสารพันธุกรรม 3.การดูแลและเฝ้าระวังการติดเชื้อใน โรงพยาบาล
4.การดูแลเรื่องการเดินทางเข้า-ออกประเทศซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ นักท่องเที่ยว จะต้องเฝ้าระวังตามสถานที่ท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยเฉพาะชาวตะวันออกกลาง ซึ่งพบว่าเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณเดือนละ 10,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวซาอุดีอาระเบียประมาณ 6,000 คน 5.การสื่อสารความเสี่ยงและ 6.การกำหนดยุทธศาสตร์ 4 ระดับ คือ 1.ไม่มีผู้ป่วยภายในประเทศ แต่จะต้องตั้งรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น 2.การรับมือในกรณีที่มีผู้ป่วยภายในประเทศ 3.กรณีอาจะเกิดการ ระบาดในวงกว้าง แต่ไม่รุนแรง และ 4.กรณี สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง และมีการระบาดรุนแรง ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่าสถานการณ์ในประเทศ ไทยตอนนี้ยังอยู่ในระดับที่ 1 คือยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศ แต่ได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการตั้งเครื่องตรวจวิเคราะห์ที่สนามบิน แต่จะเน้นที่การให้ความรู้เรื่องการเข้ารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งจะจัดทำเป็นเอกสารภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอารบิก พร้อมทั้งขอความร่วมมือกับสถานทูตที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลข่าวสารด้วย
"เร็วๆ นี้ประชาชนชาวไทยที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งคาดว่าในปีนี้น่าจะมีประมาณ 15,000 คน โดยบางส่วนได้เดินทางไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งตามปกติกระทรวงสาธารณสุขจะส่งคณะแพทย์-พยาบาลเดินทางไปด้วย แต่ครั้งนี้จะเพิ่มการประสานกับประเทศซาอุดีอาระเบียเพื่อขอแนวทางการปฏิบัติตัวระหว่างอยู่ในประเทศมาเผยแพร่ให้กับผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีดังกล่าวด้วย และหลังเสร็จสิ้นพิธีกระทั่งเดินทางกลับเข้าประเทศไทยแล้วจะต้องติดตามอาการต่อเนื่องไปอีก 10 วัน" นพ.คำนวณกล่าว
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 27 กันยายน 2555
- 3 views