พยาบาลทั่วประเทศนับหมื่นลุกฮือนัดชุมนุมหน้าทำเนียบฯ ดีเดย์ 16 ตุลานี้ ทวงคำสัญญาที่เคยรับปากจะบรรจุเป็นข้าราชการ หลังตั้งหน้าตั้งตารอจนหมดความอดทน ประธานชมรมฯ พยาบาล จวกยับผู้มีอำนาจรับปากหลายครั้งแต่ไม่ยอมดำเนินการตามที่พูด ระบุปี 58 ไทยเข้าร่วมประชาคมอาเซียน จะมีพยาบาลไทยสมองไหลไปทำงานในอาเซียนจำนวนมาก เพราะได้ค่าแรงสูง เสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนพยาบาลในประเทศ จะเกิดผลเสียตามมาอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย.55 นางศิริวันต์ ยิ้มเลี้ยง ประธานชมรมผู้บริหารทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย รองผู้อำนวยการ รพ.พิจิตร และ น.ส.วราพร กวีวิทยาภรณ์ เลขานุการคณะทำงานติดตามการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการพยาบาล สภาการพยาบาล พร้อมแกนนำพยาบาลจากทั่วประเทศกว่า 30 คน ได้ประชุมร่วมกับนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ประธานชมรมเสียงสตรีแห่งประเทศไทย ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วน ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร
นางศิริวันต์ กล่าวภายหลังการประชุมถึงปัญหาการให้บริการด้านสุขภาพของประชาชนตาม โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไทย ว่า ขณะนี้ใกล้เข้าสู่จุดวิกฤติ เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรโดยเฉพาะอาชีพแพทย์ พยาบาล เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนัก เสี่ยงถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหากมีการรักษาที่ผิดพลาด แม้จะขาดเจตนาก็ตาม จึงทำให้ขณะนี้เยาวชนที่เรียนเก่งไม่สนใจที่จะสอบเข้าเรียนเป็นพยาบาลวิชาชีพ โดยขณะนี้ขาดแคลนพยาบาลมากถึง 3 หมื่นคน จึงทำให้บุคลากรที่มีอยู่ทุกวันนี้ต้องเข้าเวรกันอย่างหนัก บางคนวันหนึ่งๆ ทำงานกัน 2 รอบ 16 ชั่วโมง ถ้าเป็นวันเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ที่มักเกิดอุบัติเหตุมากก็จะถูกสั่งห้ามลากิจ หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่พยาบาลป่วยเล็กน้อยก็ต้องลากสังขารมาทำงานล่วงเวลา ทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้คุณภาพของงานออกมาไม่เต็มร้อย เพราะการทำงานที่หนักเกินไป
อีกปัจจัยหนึ่งคือ เรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการ ความมั่นคงของอาชีพพยาบาลไม่มีให้เลย ทุกวันนี้มีพยาบาลถึง 17,000 คน จบปริญญาตรี ทำงานมาความมั่นคงของอาชีพพยาบาลไม่มีให้เลย ทุกวันนี้มีพยาบาลถึง 17,000 คน จบปริญญาตรี ทำงานมานานถึง 4-5 ปี ก็เป็นได้แค่เพียงพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว ได้เงินเดือนแค่ 1 หมื่น หรือไม่เกิน 12,000 บาท ไม่มีวี่แววว่าจะได้บรรจุเป็นข้าราชการพลเรือน หรือเป็นพนักงานเหมือนกับองค์กรอื่นๆ แถม เงินเดือนค่าจ้างที่ได้ก็ต้องไปเจียดมาจากเงินบำรุงรายหัวจากรัฐบาลที่มอบให้โรงพยาบาลต่างๆ ทำให้ต้องไปตัดในส่วนของเงินที่จะนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วย
ดังนั้นที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ที่เปิดกว้างเสรีทางด้านตลาดแรงงาน คาดว่าจะมีพยาบาลของไทยที่มีใบประกอบวิชาชีพย้ายไปเป็นลูกจ้างพยาบาลในประเทศสิงคโปร์ ที่ตอนนี้มีข้อเสนอมาแล้วว่า จะให้เงินเดือน 50,000 บาทต่อเดือน และถ้ามีประสบการณ์ หรือมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษก็จะได้มากขึ้นกว่านี้ แถมยังมีข้อเสนอสวัสดิการอย่างพร้อม ทั้งอาหาร-ที่พัก-วันหยุด-วันลา-โบนัส-ตั๋วเครื่องบินกลับบ้านที่เมืองไทยปีละ 2 ครั้งฟรีอีกด้วย จึงน่าเป็นห่วงคุณภาพชีวิตของคนไทย เมื่อพยาบาลไทยแห่ลาออก โรงพยาบาลก็จำเป็นต้องจ้างพยาบาลลูกจ้างที่เป็นชาวลาว-พม่า-กัมพูชา มาให้บริการดูแลคนเจ็บป่วยในประเทศไทยแทน
ด้าน น.ส.วราพร กวีวิทยาภรณ์ เลขานุการคณะทำงานติดตามการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการพยาบาล สภาการพยาบาล ซึ่งปัจจุบันเป็นพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวอยู่ที่โรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ได้ยื่นหนังสือให้ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ในฐานะเป็นประธานชมรมเสียงสตรีแห่งประเทศไทย ให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงนำปัญหาของพยาบาลเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
น.ส.วราพร ระบุว่า ตนและเพื่อนร่วมงานใน โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 17,000 คน ที่ทำงานมาตั้งแต่ปี 2551 ทุกวันนี้เป็นได้แค่เพียงพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว ได้รับค่าจ้างบางคน 9,000 บาทเศษ ที่สูงสุดก็ไม่เกิน 12,000 บาท ขึ้นอยู่ที่ขนาดของ โรงพยาบาลว่าเล็กหรือใหญ่ และเงินที่ได้ก็ต้องไปเบียดมาจากเงินบำรุงของโรงพยาบาล เงินส่วนนี้น่าจะไปเป็นส่วนช่วยดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ หรือเอาไปปรับปรุงคุณภาพในสถานพยาบาล แต่กลับต้องเอามาปรับปรุงคุณภาพในสถานพยาบาล แต่กลับต้องเอามาจ่ายเป็นค่าจ้างพยาบาล จึงทำให้โรงพยาบาลเล็กๆ ได้เงินบำรุงน้อยก็จ้างพยาบาลได้น้อยคน และจำนวนค่าจ้างก็น้อยลงไปด้วย แถมไม่มีสวัสดีการหรือความมั่นคงใดๆ จึงทำให้พยาบาลแห่ลาออกไปเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลเอกชน ส่งผลกระทบไปถึงวิทยาลัยพยาบาลที่ต้องผลิตบุคลากรให้เพิ่มมากขึ้น แต่พอผลิตออกมาก็ไม่พอทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ เพราะได้ค่าแรงจากโรงพยาบาลเอกชนที่มากกว่าก็เกิดสมองไหล ล่าสุดทุกคนรอให้ถึงปี 58 ก็จะไปทำงานที่สิงคโปร์ที่ให้ค่าตอบแทนบวกกับค่าล่วงเวลารวมแล้วสูงเกือบแสนบาทต่อเดือน
จากความเดือดร้อนดังกล่าว กลุ่มพยาบาลจึงมีการตั้งเครือข่ายขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้มีการบรรจุพยาบาลเข้ารับราชการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติในเรื่องนี้ แต่จากการชุมนุมและร้องเรียนกับรัฐบาลและกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาแล้วถึง 3 ครั้ง ก็รับปากว่าจะดูแลและพิจารณาให้ แต่ขณะนี้จะสิ้นปีงบประมาณ 55 ในวันที่ 30 กันยายน 2555 นี้แล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า
ขณะนี้แกนนำพยาบาลจากทุกจังหวัดจึงมีการปลุกระดมจะให้รวมตัวกันและนัดกันว่าในวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. พยาบาลจากทั่วประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจะไปชุมนุมเพื่อรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอคำตอบในเรื่องดังกล่าว ส่วนจะยืดเยื้อและจะส่งผลกระทบต่อคนไข้มากน้อยเพียงใดนั้น ก็คงจะต้องรอสถานการณ์เฉพาะหน้าว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร
ที่มา: นสพ.บ้านเมือง วันที่ 27 กันยายน 2555
- 7 views