ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. รับทราบข้อสังเกตคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับนโยบายการบูรณาการสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้รับจากระบบประกันสุขภาพต่างๆ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล(ฉบับที่...) พ.ศ. ... มาเพื่อดำเนินการโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างดำเนินการนำร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
สำหรับการออก พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ครั้งนี้เนื่องจากระบบรักษาพยาบาล 3 ระบบ คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง มีการบริหารจัดการแตกต่างกันจึงเป็นเหตุให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลสมควรหาแนวทางการสร้างความเป็นเอกภาพของระบบการให้บริการเจ็บป่วย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เริ่มให้บริการป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ เพื่อให้ประชาชนในทุกระบบได้รับสิทธิประโยชน์หลักเท่าเทียมกัน และรัฐสามารถบริหารจัดการระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพในระยะยาว ภายใต้การใช้จ่ายงบประมาณที่เหมาะสม
จึงเห็นควรปรับปรุงสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของเอกชน กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงการคลังได้ออกร่าง พ.ร.ฎ.การจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลรองรับ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย
ข้อเท็จจริง คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาเสร็จแล้ว มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้นโดยได้ตัดบทเฉพาะกาลและมาตรารักษาการออก เนื่องจากร่างพ.ร.ฎ.นี้เป็นการขยายสิทธิให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น และให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2555 แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลและมาตรารักษาการไว้
คณะกฤษฎีกามีข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายบูรณาการสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้รับจากระบบประกันสุขภาพต่างๆ ว่าระบบดูแลสุขภาพที่รัฐจัดเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้แก่พลเมือง สมควรดำเนินการอย่างทั่วถึงตามกำลังงบประมาณของประเทศ มากกว่ามุ่งที่จะให้พลเมืองทุกคนได้รับสิทธิต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน
เนื่องจากลักษณะของผู้มีสิทธิในแต่ละระบบสวัสดิการยังมีความแตกต่างกัน การที่จะกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน อาจก่อให้เกิดปัญหาในเชิงระบบ และเป็นภาระแก่งบประมาณของประเทศจำนวนมาก อีกทั้งการจัดระบบสวัสดิการนั้นควรเป็นไปในลักษณะที่ฝ่ายผู้รับบริการต้องมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อมิให้การให้บริการเกินความจำเป็นและเป็นภาระแก่งบประมาณของประเทศเกินไป
ขณะที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นว่าการกำหนดให้ผู้มีสิทธิเท่าเทียมกัน อาจก่อให้เกิดปัญหาเชิงระบบ และเป็นภาระแก่งบประมาณของประเทศจำนวนมาก แต่ควรจัดการจัดระบบสวัสดิการในลักษณะที่ฝ่ายผู้รับบริการต้องมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อมิให้มีการใช้บริการเกินความจำเป็น และเป็นภาระแก่งบประมาณของประเทศ ซึ่งสมควรนำข้อสังเกตดังกล่าวไปพิจารณาทบทวนนโยบายการบูรณาการสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้ด้วย
ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 26 กันยายน 2555
- 2 views