คณบดีโรงเรียนแพทย์อาเซียน เร่งปรับหลักสูตรเรียนแพทย์มาตรฐานเดียวกัน จี้รัฐเร่ง เพิ่มแพทย์อีก 30,000 คน เพียงพอรองรับความต้องการ เสนอปรับแรงจูงใจ ป้องกันปัญหาสมองไหล คาดหลังเปิดอาเซียนแพทย์เคลื่อนย้ายเพียงระยะสั้น ไม่กระทบปัญหาขาดแคลนในประเทศ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมสุดยอดคณบดีอาเซียน หัวข้อการรวมกันเพื่อความเป็นหนึ่งของโรงเรียนแพทย์ เพื่อรวมพลังภาคีเครือข่ายความร่วมมือ 10 โรงเรียนแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า การประชุมมีประเด็นสำคัญว่าด้วยเรื่องหลักสูตรการแพทย์ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีการพูดถึงหลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละประเทศ มีความแตกต่างกันอย่างไร โดยจะร่วมกันหาแนวทางการปรับประยุกต์เนื้อหาและหลักสูตรการเรียนการสอนเข้าหากัน เพื่อให้ทุกประเทศในประชาคมอาเซียน มีมาตรฐานหลักสูตรทางการแพทย์อยู่ในระดับมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งในปี 2558 คาดว่าหลักสูตรการเรียนการสอนด้านแพทย์และสาธารณสุขของทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน จะมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับหลักสูตรทางการแพทย์ เพื่อให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันของประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน จะช่วยให้ประเทศที่การแพทย์และสาธารณสุข ยังไม่มีมาตรฐาน หรือไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร สามารถเรียนรู้และนำความรู้ กลับไปปรับปรุงพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศของตนเองได้
นอกจากนั้นประโยชน์ในภาพรวม ก็จะช่วยให้มาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขในระดับภูมิภาค มีการพัฒนาและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและประชาชนของแต่ละประเทศ
ตั้งเป้านักเรียนแพทย์ 3 หมื่นคน
ศ.คลินิก นพ.อุดม คาดว่าการประชุมคณบดีโรงเรียนแพทยศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน อาจต้องจัดขึ้นอีก 2-3 ครั้ง จึงจะสามารถทำการสรุปแนวทางการปรับหลักสูตรและทิศทางด้านแพทย์และสาธารณสุขของภูมิภาคอาเซียนได้ เนื่องจากยังมีหลายปัจจัย ที่ต้องทำการพูดคุยและร่วมกันถกประเด็นปัญหา โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ที่ในแต่ละประเทศ ยังคงขาดแคลน อย่างในประเทศไทยจำนวนแพทย์ต่อประชากรนั้นยังไม่เพียงพอ ซึ่งตามต่างจังหวัดถือว่ายังเป็นปัญหาใหญ่
"จะต้องเร่งเพิ่มจำนวนนักเรียนแพทย์อีกเท่าตัว หรือประมาณ 30,000 คน ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการสนับสนุนการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ให้มีมากขึ้น เพราะการเปิดประชาคมอาเซียนอาจส่งผลกระทบให้จำนวนบุคลากรทางการแพทย์เคลื่อนย้ายไปรักษายังต่างประเทศ ที่มีค่าตอบแทนมากกว่าในประเทศไทย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องพิจารณาแนวทางการจูงใจ เพื่อไม่ให้แพทย์ในประเทศเคลื่อนย้ายไปรักษายังต่างประเทศ โดยในทางปฏิบัติอาจจะเทียบเคียงค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นบางส่วน ไม่ต้องถึงกับเทียบเท่าในต่างประเทศ" ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว
ชี้ไทยพร้อมรับคนไข้ต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการไหลเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย ของประชาชนประเทศเพื่อนบ้าน คิดว่าไม่น่าจะสร้างปัญหาหรือเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากศักยภาพของประเทศไทย ถือว่ายังคงพอรับได้ โดยขณะนี้โรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็มีการเตรียมความพร้อม ในเรื่องดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลเอกชนก็มีการเปิดแผนกรักษาคนไข้ต่างชาติ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนไว้แล้ว
"ปัญหาที่ควรวางมาตรการป้องกันก็คือปัญหาแพทย์ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศลาว อาจเดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทยตามชายแดน อาจทำเกิดปัญหาได้เพราะการสอบใบรับรองแพทย์ของแต่ละประเทศยังมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน"
แพทย์ไทยเดินตามธุรกิจออกนอก
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดีและผู้อำนวยการโรงเรียนแพทยศาสตร์ศิริราช กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์หลังเปิดประชาคมอาเซียน ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้แพทย์ที่เดินทางออกไปรักษายังต่างประเทศ ได้เรียนรู้ทักษะ และประสบการณ์ในการรักษาที่แตกต่างจากในประเทศของตนเอง แต่อย่างไรก็ตามปัญหาการเคลื่อนย้าย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น น่าจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หลังการเปิดประชาคมอาเซียน
ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย ก็ไปทำการเปิดสาขายังต่างประเทศ ซึ่งในระยะแรกอาจต้องนำแพทย์และพยาบาลในประเทศไทยไปรักษาพยาบาลยังสาขาต่างประเทศที่เปิดไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถสร้างระบบการรักษาได้ โดยใช้แพทย์และพยาบาลในประเทศนั้นๆ จากนั้นแพทย์และพยาบาลก็น่าจะกลับมาทำการรักษาภายในประเทศดังเดิม จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนแพทย์ภายในประเทศไทย
ไม่หวั่นแพทย์นอกทางานไทย
"ประเทศสิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย และ ไทย ถือเป็นประเทศที่มีมาตรฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุขอยู่ในระดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นหากเกิดการเคลื่อนย้ายแพทย์ พยาบาล ไปทำงานต่างประเทศก็อาจจะอยู่ใน 4 ประเทศนี้" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มการไหลเข้ามาทำการรักษาของแพทย์ประเทศเพื่อนบ้านในประเทศไทย นั้นถือว่าไม่น่ากังวล เนื่องจากยังมีข้อจำกัดเรื่องการสื่อสาร ที่เป็นตัวคัดกรองการเคลื่อนย้ายเข้ามาทำการรักษาในประเทศไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ใครที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ก็จะรับเข้ามา จึงควรต้องมีการวางมาตรการป้องกันหรือกำหนดมาตรฐาน การรับบุคลากรแพทย์และพยาบาลจากต่างประเทศ ต้องเน้นมาตรฐานและคุณภาพการรักษามาเป็นอันดับแรก ช่วยให้มาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุข ในระดับภูมิภาค เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555
- 10 views