สธ. เผยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขกำลังทดสอบนำร่องให้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน จำนวน 15,000 คน ที่จังหวัดสุโขทัย ในระยะเวลา 3 ปี หากได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คาดปี 2558 จะบรรจุวัคซีนไวรัสโรต้าเข้าในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ มั่นใจจะลดป่วยเด็กไทยจากโรคอุจจาระร่วงได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย
วันนี้ (19 กันยายน 2555) ที่สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดงานเดินวิ่งการกุศล “คุณร่วมหยุด เราร่วมหยอด เพื่อช่วยน้องปลอดไวรัสโรต้า” ว่า จากการคาดประมาณขององค์การอนามัยโลกล่าสุด พบว่าในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก เจ็บป่วยจากโรคอุจจาระร่วงปีละ 3,000-5,000 ล้านคน เสียชีวิต 5-10 ล้านคน พบว่าเชื้อไวรัสโรต้า (rotavirus) เป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 20-70 ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี
สำหรับประเทศไทยในปี 2554 คาดว่าจะมีเด็กป่วยอุจาจะร่วงจากไวรัสโรต้าจำนวนกว่า 100,000 ราย เสียชีวิตปีละประมาณ 10 ราย มักพบในฤดูหนาว กระทรวงสาธารณสุขเร่งหาแนวทางป้องกันการป่วยและเสียชีวิตของเด็กไทยจากไวรัสดังกล่าว นอกจากจะพัฒนาเรื่องระบบความสะอาดสุขาภิบาล อาหาร น้ำดื่มแล้ว ยังมีแผนจะบรรจุวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าเข้าสู่แผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติด้วย ซึ่งขณะนี้มีใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้วในแถบยุโรปและอเมริกา โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบนำร่องในจังหวัดสุโขทัย โดยหยอดวัคซีนให้คนละ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 และ 4 เดือน จำนวนปีละ 5,000 คน รวม 15,000 คน ในระยะเวลา 3 ปี โดยดำเนินการตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และจะประเมินผลเป็นระยะๆ ทุก 6 เดือน เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน คาดว่าจะติดตามถึงปี 2557 หากได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จะพิจารณานำวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคภายในปี 2558 ซึ่งจะทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 6 เดือน ทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง จะทำให้เด็กไทยได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ เนื่องจากหากเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เจ็บป่วยบ่อย จะมีผลต่อพัฒนาการของเด็กด้วย
ด้านนายแพทย์จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ไวรัสโรต้าก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กทารก และเด็กเล็ก ส่วนเด็กโต หรือผู้ใหญ่ ส่วนมากมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้แล้ว หากมีการติดเชื้อชนิดนี้อาจจะไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยกว่าที่พบในเด็กเล็ก ไวรัสชนิดนี้มีระยะฟักตัว 1-3 วัน เด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ มีไข้ต่ำๆ บางครั้งอาจเกิดอาการร่วมกับอาการทางระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไอ มีน้ำมูกไหล คอแดง ทอนซิลอักเสบ อาการพบนานตั้งแต่ 2-3 วัน จนถึง 7-10 วัน บางรายอาจมีอาการรุนแรง ขาดน้ำ ช็อก อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยทั่วไปโรคนี้จะหายเองได้ประมาณ 2-14 วัน
สำหรับการป้องกันไวรัสโรต้า ที่ผ่านมา จะเน้นการรักษาอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือ การรักษาความสะอาดในการประกอบอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ การดูแลห้องสุขาให้สะอาดถูกสุขลักษณะแล้ว หากมีวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เพิ่มเติม มั่นใจว่าสามารถช่วยป้องกันโรคดังกล่าวได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- 8 views