อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้ ทำเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป มีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ฉะนั้นต้องรอบคอบ ด้านนักวิชาการชี้ควรเจรจาเฉพาะส่วน อย่าเอาประเด็นทางสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อมไปแลก
นางปัจฉิมา ธนสมบัติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้สัมภาษณ์ทางรายการเช้าทันโลก เอฟเอ็ม 96.5 กล่าวถึงความพยายามของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ที่พยายามเร่งให้มีการเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องทำอย่างรอบคอบ และหากไทยไปยอมรับความตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์ตามที่สหภาพยุโรปต้องการ จะนำไปสู่การแก้กฎหมายซึ่งประเทศสมาชิกอื่นๆขององค์การการค้าโลกจะมาเรียกร้องขอใช้ประโยชน์ด้วย
“เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในข้อการเจรจาเอฟทีเอไทย-ยุโรป ที่ กระทรวงสาธารณสุขกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเข้าไปมีส่วน ของกรมฯ เราเห็นว่าต้องรอบคอบ เพราะเท่ากับเป็นการขยายเวลาสิทธิบัตรที่จดทะเบียนเอาไว้ ทางกรมฯเห็นว่า น่าต้องมีเอกสารหลักฐานข้อดี ผลกระทบอย่างไรจะเกิดขึ้น และที่ตามมาคือต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ต้องศึกษาประเทศอื่นๆ ว่า เป็นเช่นไร ไม่ใช่ทำกันบางประเทศ แล้วไปยอมรับมา น่าจะดูผลประโยชน์ส่วนใหญ่ เพราะจะมีปัญหากับการเข้าถึงยาของประชาชนด้วย ยาเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป แล้วประเทศอื่นๆก็จะมาขอ เราจะไม่ให้ก็เป็นปัญหา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก คือเรื่องใหญ่เลย”
เมื่อถูกถามว่า ได้ให้ข้อมูลกับกรมเจรจาฯบ้างหรือไม่ เพราะกรมเจรจาฯทำจุดยืนเสนอรองนายกฯ นายกิตติรัตน์ ณ ระนองว่า การยอมรับทริปส์พลัสจะไม่มีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า แจ้งไปว่า มีกระทบและต้องแก้ไขกฎหมายอยู่แล้ว ต้องมีการชี้แจงหลายเรื่อง อีกทั้งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาข้อบทที่เกี่ยวกับเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปตรงๆจึงควรรอบคอบ
ทางด้าน รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในการสัมมนา "Thai Trade Policy at A Crossroads: TPP, AEC, FTAs, and Beyond" ที่จุฬาฯ ระบุว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ แผนแม่บทในการเจรจาการค้า ทำให้ไม่มีทิศทาง หากไทยคิดจะเข้าสู่การเจรจาความตกลงข้ามแปซิฟิค (TPPA) ที่สหรัฐฯกำลังเป็นเจ้าภาพต้องคิดให้หนัก เพราะมีต้นทุนสูง และไทยไม่น่ามีความพร้อม และควรเน้นเรื่องอาเซียนมากกว่า
ทางด้าน ดร.รัชดา เจียสกุล ผู้จัดการอาวุโสบริษัทไบรอัน เคฟ (ประเทศไทย) ซึ่งทำการศึกษาผลได้จาก TPPA ให้กับกรมเจรจาฯ ให้ความเห็นว่า การเจรจาการค้าที่ใช้หลักการ single undertaking หรือ เอาต้องเอาทั้งหมดหมด ไม่เอาก็จะไม่ได้ทั้งหมด ต้องทบทวน เพราะปัจจุบัน การเจรจาการค้ามีประเด็นทางสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อมสูง ถ้ารัฐบาลเห็นว่า บางภาคเศรษฐกิจ เช่นบริการ หรือสินค้า จะได้ประโยชน์ ก็ควรเจรจาเฉพาะส่วน น่าจะเหมาะสมกว่า
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์แสดงความห่วงใยต่อข้อเรียกร้องของทางอียู ที่ขอให้1.การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี 2.การคุ้มครองข้อมูลในรูปแบบการได้รับสิทธิพิเศษเพียงผู้เดียวเหนือข้อมูล ที่ยื่นทะเบียนยาครั้งแรกและครั้งต่อไป อย่างน้อย 5 ปี (Data exclusivity) และ 3.การจับยึด อายัด หรือทำลายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ที่สงสัยว่าอาจจะละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สิน ทางปัญญาประเภทอื่นๆ ณ จุดผ่านแดน เพราะทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง อาจส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ของรัฐ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาโดยกรณี พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น 20 ปีและการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิบัตรยา ส่งผลให้เกิดความพลิกผันของมูลค่าการใช้จ่ายยาในประเทศ ระหว่างยานำเข้าและมีสิทธิบัตรกับยาผลิตในประเทศ จากเดิมที่มูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 34% และมูลค่าการใช้ยาผลิตในประเทศอยู่ที่ 66% ของมูลค่าการใช้ยาทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันมูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 77% ขณะที่มูลค่าการใช้ยาที่ผลิตในประเทศเหลือเพียงแค่ 23% เท่านั้น จากมูลค่ายา ของทั้งประเทศอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี 2554) ทั้งนี้เนื่องมาจากการนำเข้ายาสิทธิบัตรที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่องบประมาณภาครัฐ ความยั่งยืนการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมยาภาย ในประเทศอย่างมาก เกิดการชะลอผลิตยาสามัญใหม่ๆ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้
- 3 views