คาดบริษัทบุหรี่ข้ามชาติอยู่เบื้องหลังความพยายามคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบ เพราะเกรงจะถูกคุมเข้ม วอนผู้มีอำนาจศึกษาข้อเท็จจริงให้ละเอียด ชี้ไม่มีมาตราใด ห้ามปลูกยาสูบ
ตามที่กระทรวงสาธารณสุขจะจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ สำหรับพื้นที่ภาคกลางในวันศุกร์นี้ และชาวไร่ยาสูบ รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะตนเชื่อว่าผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดหาก พ.ร.บ.นี้ล้ม คือ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ
ศ.นพ.ประกิต เปิดเผยว่า จากการติดตามข่าวในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีความพยายามให้ ข้อมูลที่บิดเบือนว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะทำให้ชาวไร่ยาสูบตกงาน และจะมีการห้ามปลูกยาสูบ ภายใน 5 ปี ซึ่งไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย เพราะไม่มีมาตราใดที่กล่าวถึงการปลูกยาสูบเลย และจุดมุ่งหมายร่างพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ของ ร่าง พ.ร.บ.นี้ คือการควบคุมการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อป้องกันเด็กไทยไม่ให้ติดบุหรี่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญเนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงจากกฎหมายที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันให้เข้มขึ้น เช่น ห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งเพิ่มจากกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดไว้ที่อายุ 18 ปี รวมถึงการเพิ่มมาตราต่าง ๆ ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบโลก ที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีกับอีก 175 ประเทศและต้องทำตามพันธกรณี
“ผมเข้าใจดีว่า ชาวไร่ยาสูบเกรงว่าคนไทยจะเลิกสูบบุหรี่กันหมดหลังจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมา ตามคำยุยงของบริษัทบุหรี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางเป็นจริง เพราะบุหรี่เป็นสินค้าที่มีอำนาจเสพติดสูงมาก แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายและมาตรการควบคุมยาสูบมากว่า 25 ปี แต่จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ในปี พ.ศ. 2554 ยังคงอยู่ที่ 13 ล้านคน เกือบไม่ได้ลดลงจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือ ในปี พ.ศ.2534 ที่มีคนสูบบุหรี่ 12 ล้านคนเศษ ที่สำคัญปริมาณบุหรี่ที่ผลิตออกมาขายก็ไม่ได้ลดลง ยังคงอยู่ที่ 2,000 ล้านซองต่อปี ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นเช่นนี้เพราะแม้อัตราการสูบบุหรี่จะลดลงแต่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเราไม่มีการรณรงค์ไม่มีกฎหมายและมาตรการต่างๆ จำนวนผู้สูบบุหรี่ในขณะนี้จะมีมากถึง 17 ล้านคน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า สิ่งที่บางฝ่ายกังวล คือ ส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบที่ลดลง แต่บริษัท บุหรี่นอกมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น เพราะสามารถขายในราคาที่ใกล้เคียงกับบุหรี่ไทย เพราะไม่ต้องเสียภาษี บุหรี่นำเข้าตามข้อตกลงอาฟตา ถ้ากฎหมายนี้ถูกล้ม หรือถูกตัดบางมาตราออก
"ผมเชื่อว่า ผู้ที่จะได้ประโยชน์มหาศาลจาก ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็คือบริษัทบุหรี่นอก โรงงานยาสูบไทยจะต้องเข้าใจว่า กฎหมายใหม่กำหนดมาตรการควบคุมการตลาดที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งจะทำให้โรงงานยาสูบสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้แก่บุหรี่นอกช้าลง เพราะหากกฎหมายมีจุดอ่อนอย่างที่เป็นอยู่ บริษัทบุหรี่นอกมีกลยุทธ์และทุนมหาศาลในการทำการส่งเสริมการขาย และจะแย่งส่วนแบ่งตลาดจากโรงงานยาสูบในที่สุด ล่าสุดบริษัท ฟิลลิป มอริส ไทยแลนด์ ได้สนับสนุนการดำเนินงานของสมาคมการค้ายาสูบไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นร้านค้าปลีก ให้ออกมาคัดค้านบางมาตราของกฎหมายนี้ ผมขอวิงวอน ผู้มีอำนาจทั้งหลาย ให้ศึกษาข้อมูลให้ดีๆ และอย่าไปตกหลุมบริษัทบุหรี่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ผลเสียไม่เฉพาะจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยเท่านั้น แต่ประเทศไทยจะเสียหน้าไปทั่วโลก ว่าไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ ที่รัฐบาลไปลงนามไว้เมื่อปี 2547" ศ.นพ.ประกิต กล่าว
อนึ่ง ข้อมูลจากกรมสรรพสามิตระบุว่าในฤดูผลิตปี 2552/2553 ประเทศไทยมีชาวไร่ยาสูบ 61,056 ราย ผลิตใบยาได้ 62,448,781 กิโลกรัม โดยร้อยละ 64.8 เป็นใบยาสำหรับส่งออก และร้อยละ 35.2 รับซื้อโดยโรงงานยาสูบไทย
- 11 views