เมื่อวันที่ 13 กันยายน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ 3 กองทุน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เสนอแนวคิดระบบประกันสังคมถ้วนหน้าต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร คนขับแท็กซี่ แม่บ้าน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ เข้าสู่ระบบประกันสังคมแบบสมัครใจ และรับสิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล คลอดบุตร เสียชีวิต ฯลฯ
นพ.สมเกียรติ กล่าวถึงรูปแบบระบบประกันสังคมถ้วนหน้าว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.กองทุนประกันสังคมที่ดูแลแรงงานในระบบกว่า 10 ล้านคน 2.กองทุนประกันสังคมที่ให้สิทธิคนไทยทุกกลุ่มกว่า 48 ล้านคน เป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ ยกเว้นแรงงานในระบบ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในจำนวนนี้มีแรงงานนอกระบบกว่า 29 ล้านคน ที่มีรายได้สามารถจ่ายเงินสมทบได้
"สมาชิกกองทุนที่สมัครใจจ่ายเข้ากองทุนคนละ 13,200 บาทต่อปี โดยรัฐบาลสมทบให้คนละ 550 บาทต่อเดือน และสมาชิกจ่ายเอง 550 บาทต่อเดือน ได้สิทธิประโยชน์ 7 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ส่วนที่เป็นสมาชิกแบบอัตโนมัติ รัฐบาลจ่ายให้คนละ 550 บาทต่อเดือน ได้สิทธิประโยชน์ 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต" นพ.สมเกียรติกล่าว และว่า กองทุนนี้คล้ายกับระบบประกันชีวิต ช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตครบถ้วน ซึ่งแตกต่างจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดูแลเฉพาะการรักษาพยาบาลอย่างเดียว ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงการคลัง และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เห็นชอบในหลักการ แต่เรื่องนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจเอง
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 14 ก.ย. 2555
- 2 views