ชาวบ้านร้องสปสช.สามีเส้นเลือดสมองแตกตาย "เจ็บป่วยฉุกเฉิน" แต่ใช้สิทธิบัตรทอง รพ.เอกชนไม่ได้ อ้างไม่แจ้งสิทธิก่อน ระบุถูกให้เซ็นประเมินยอมรับค่ารักษา เผยเป็นหนี้ 3.1 แสนบาท วอน สปสช.ช่วยเคลียร์ ด้าน "เลขาฯ สปสช." ชี้เส้นเลือดสมองแตกเป็นกรณีฉุกเฉิน รักษาได้ไม่ต้องถามสิทธิ

นางอารีย์วัลย์ โตวิทยาพันธ์ชัย อายุ 46 ปี ชาว กทม. เรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ชี้แจงและให้ความช่วยเหลือหลังจากถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาสามี ที่ขอใช้สิทธิบัตรทองกรณีเส้นเลือดในสมองแตก ทั้งที่เป็นอุบัติเหตุ

นางอารีย์วัลย์ ภรรยาผู้ป่วยที่เข้ารักษาฉุกเฉินหลังเกิดอาการภาวะเส้นเลือดในสมองแตกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา สามีตน นายพรเทพ โตวิทยาพันธ์ชัย อายุ 63 ปี ได้เกิดอาการภาวะช็อกหมดและสติลง ตนเองพร้อมด้วยลูกและหลาน 3 คน ได้ช่วยกันหามส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. ซึ่งอยู่ติดรั้วเดียวกับบ้านที่เปิดเป็นอู่รับซ่อมรถ ทันทีที่หามเข้าโรงพยาบาลทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่เป็นแผนกต้อนรับได้ถามว่าผู้ป่วยมีสิทธิอะไรหรือไม่ ซึ่งได้บอกไปว่าผู้ป่วยมีสิทธิบัตรทอง จึงได้นำบัตรประชาชนไปตรวจสอบสิทธิ และบอกว่าผู้ป่วยมีสิทธิรักษาบัตรทองที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

นางอารีย์ กล่าวว่า ต่อมาก็ได้รับแจ้งค่าใช้จ่ายรักษาเพิ่มเติมอีกว่าผู้ป่วยต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกประมาณ 2.5 แสนบาท โดยผู้ป่วยต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด และยังต้องได้รับการผ่าตัดสมอง ทั้งนี้ยอมรับว่าความรู้สึกขณะนั้นรู้ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาสามีครั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่า 3  4 แสนบาทอยู่แล้ว และทุกครั้งที่มีการประเมินอาการเพื่อรักษาก็จะมีการให้ลงนามรับทราบ โดยทุกครั้งก็จะถามกลับไปว่าบัตรทองที่ขอให้ตรวจสอบสิทธินั้น สามารถใช้สิทธิการรักษาได้หรือไม่ คำตอบที่ได้รับก็จะเหมือนเดิม

เผยถูกให้เซ็นรับรองค่ารักษา

นางอารีย์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2555 ได้โทรศัพท์ไปยัง 1330 ของทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อสอบถามการใช้สิทธินี้ โดยทาง 1330 ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ที่ดูแลสิทธิระบบฉุกเฉิน ซึ่งหลังจากมาดูแล้วก็บอกแต่เพียงว่าทางเราไม่ได้แจ้งขอใช้สิทธิก่อนหน้านี้ ทั้งที่ทุกครั้งที่มีการประเมินอาการผู้ป่วยและให้ลงนามในเอกสาร ก็ถามย้ำถึงการใช้สิทธิบัตรทองทุกครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่ประเมินอาการสามารถยืนยันได้ ถ้าไม่จริงก็ของให้ตาย อีกทั้งทางโรงพยาบาลยังแจ้งอีกว่า โรงพยาบาลเพียงแต่เข้าร่วมโครงการผู้ป่วยฉุกเฉินในส่วนโรคหัวใจเท่านั้น ไม่ได้ร่วมในส่วนของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับทางสมอง และบอกให้เราทำการสำรองจ่ายค่ารักษาไปก่อน ซึ่งในวันนี้ 10 กันยายน 2555 สามีตนได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยทางโรงพยาบาลขอให้ตนลงนามในหนังสือรับทราบหนี้สินจากการรักษาจำนวน 3.1 แสนบาท โดยตนได้จ่ายไปแล้ว 4 หมื่นบาท และที่เหลือให้ผ่อนชำระ ซึ่งเราก็ต้องยอมเซ็นไปเพื่อที่จะได้นำใบมรณะบัตรไปเดินเรื่องและนำศพมาทำพิธีทางศาสนา 

"อยากถามว่าถ้าเรามีเงินพอที่จะสำรองจ่ายค่ารักษาไปก่อนจะมาขอใช้สิทธิบัตรทองนี้ทำไม และเราก็มีการทวงถามเพื่อขอใช้สิทธิบัตรทองตั้งแต่เข้ารักษา ถึงแม้เราจะไม่รู้เรื่องการรวมสิทธิระบบผู้ป่วยฉุกเฉินที่เป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ก็ถามกับเจ้าหน้าที่มาตลอดเวลาว่าบัตรทองนี้ใช้ได้หรือไม่เพราะก็มีความหวังอยู่ นางอารีย์ กล่าวและว่า หลังสามีเสียชีวิตได้สอบถามไปยัง 1330 เพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งก็บอกแต่เพียงว่าทางเราไม่ได้โทร.แจ้งใช้สิทธิฉุกเฉินที่ 1330 ตั้งแต่แรก และขอให้ทำหนังสือร้องเรียนเข้าไปยัง สปสช. เพื่อขอให้ดำเนินการช่วยเหลือ

สปสช.เผยเส้นเลือดแตกฉุกเฉิน

นางอารีย์ กล่าวต่อว่า ตอนแรกที่แจ้งว่ามีบัตรทอง แม้ว่าทางโรงพยาบาลจะบอกว่าต้องรอขออนุมัติผู้บริหารก่อน แต่ก็มีความหวัง ซึ่งตามนโยบายเจ็บป่วยรักษาฉุกเฉินของรัฐบาล หากดูในกรณีของสามีตนถือว่าเข้าข่าย เพราะเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตกต้องได้รับการรักษาด่วน ทั้งยังเป็นการหามส่งเข้าโรงพยาบาลที่อยู่ติดกับบ้าน อยู่ในรั้วเดียวกัน มีสิทธิบัตรทอง ซึ่งตนเองไม่รู้ว่าทำไมถึงขอใช้สิทธิ์รักษาฉุกเฉินตามนโยบายรัฐไม่ได้ หรือว่ารัฐบาลมีปัญหาในเรื่องงบประมาณ การจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาล ส่งผลให้การดำเนินการตามนโยบายฉุกเฉินของโรงพยาบาลเกิดปัญหาขึ้น วันนี้อยากให้ สปสช.เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาทั้งหมดก็ได้ แต่ขอให้ช่วยส่วนหนึ่งเพื่อลดภาระหนี้ลง

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การสิทธิรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินคงต้องดูเป็นกรณีไป แต่ในรายที่เกิดภาวะช็อกหมดสติ เส้นเลือดในสมองแตกถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่สามารถเข้ารักษาได้ และโรงพยาบาลไม่ว่ารัฐหรือเอกชนต้องให้การรักษาอย่างเต็มที่โดยไม่ถามสิทธิ ซึ่งหากรายใดที่ประสบปัญหาเช่นนี้ให้ร้องเรียนเข้าไปที่หมายเลขด่วน 1330 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยประสานแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ ทั้งนี้ยอมรับว่า หลังการดำเนินนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาได้ทุกที ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา มีร้องเรียนถึงปัญหาการใช้สิทธินี้เข้ามาเช่นกัน อย่างเช่น การเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยก่อน การถามสิทธิก่อนรักษา รวมไปถึงปัญหาการปฏิเสธผู้ป่วย

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 ก.ย. 2555