ทัวร์สุขภาพ "กัมพูชา-เวียดนาม" ทะลักรักษา รพ.รัฐชื่อดังไทย เหตุเชื่อมั่นคุณภาพ ราคาถูก แพทย์โอดเบียดคิวผู้ป่วยไทยภาระงานเพิ่ม "แพทยสภา-รพ.รามาธิบดี" เร่งหารือแก้ไขหวั่นเปิดอาเซียนผู้ป่วยเพื่อนบ้านเข้ารักษาไทยเพิ่มผู้ป่วยล้นรพ.

ในแต่ละวันบัตรคิวของโรงพยาบาลถูกจับจองมากกว่า 500 ใบในแต่ละช่วงเวลา และนั่นหมายถึงเวลาที่ผู้ป่วยที่ต้องการใช้บริการตรวจรักษาต้องรอคิวนานกว่า 2-3 ชั่วโมงเพื่อพบแพทย์ 3-4 นาที ล่าสุดภาระงานแพทย์และคิวการรักษายาวขึ้น จาก "ทัวร์สุขภาพจากเพื่อนบ้าน" ทั้งกัมพูชา, เวียดนาม ที่ทะลักเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์ของไทยเนื่องจากราคาถูกและมาตรฐานการรักษา

ปัญหาดังกล่าว "กรุงเทพธุรกิจ" ได้เข้าไปตรวจสอบการเข้าบริการของทัวร์สุขภาพชาวกัมพูชา เวียดนาม โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งพบไกด์ชาวกัมพูชาและชาวไทยพร้อมกลุ่มผู้ป่วยชาวกัมพูชา 10-20 คนเข้ามารอรับบัตรคิวเพื่อตรวจรักษา

แพทย์เวรโรงพยาบาลรามาฯ เล่าว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน พ.ค.ปี 2555 พบชาวกัมพูชาเดินทางมารักษาพยาบาลแผนกอายุรกรรมและแผนกสูตินรีเวช จำนวนมากเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลของชาวกัมพูชาและจะมาเป็นกลุ่มหรือที่เรียกว่าทัวร์สุขภาพ  ส่วนใหญ่จะเข้ามาตรวจร่างกายประจำปี โดยจะเคยมีประวัติการตรวจรักษาในประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนามมาก่อน แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ จึงต้องการเดินทางมาตรวจรักษาในประเทศไทย เพราะเชื่อมั่นคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์

"การรักษาจะมีไกด์ชาวกัมพูชาที่พาผู้ป่วยมาตรวจรักษา จะสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ 2 คน เป็นเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งทั้งสองสามารถสื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี"

ชี้เป็นกลุ่มผู้ป่วยมีฐานะในกัมพูชา

แพทย์เวรรายนี้บอกว่า จากการสังเกตผู้ป่วยชาวกัมพูชาที่เดินทางเข้ามารักษาค่อนข้างมีฐานะ จึงยอมเสียค่าเครื่องบินเข้ามารักษาที่ไทย และต้องการให้แพทย์ทำการตรวจร่างกายทุกส่วน และยินดีหากต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติม และเดินทางมารักษาในไทยเพราะมั่นใจคุณภาพและราคาค่ารักษาที่ถูกกว่ามากและสามารถจ่ายได้

เผยมารักษากลุ่มละ 20 คน

ลักษณะการจัดทัวร์สุขภาพของไกด์ชาวกัมพูชา จะมีการนำผู้ป่วยจากประเทศกัมพูชาและเวียดนามเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ครั้งละ 10-20 คน ซึ่งคนเหล่านี้ไม่สามารถพูดภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้ โดยไกด์จะทำหน้าที่เป็นล่ามคอยแปลภาษาไทยเป็นภาษากัมพูชาตลอดการตรวจรักษา

"ไกด์จะต้องคอยเดินเข้าเดินออกห้องตรวจ เพื่อสับเปลี่ยนไปแปลภาษาให้กับผู้ป่วยที่ตนนำมาจนครบทุกคน จึงทำให้การตรวจรักษาในแต่ละครั้งต้องใช้ระยะเวลานาน จากปกติประมาณ 10-15 นาที แต่กลับต้องใช้เวลาตรวจรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้นานถึง 30-40 นาทีและในระยะหลังพบมากขึ้น"

เน้นรักษากับแพทย์ประจำบ้าน

แพทย์เวรโรงพยาบาลรามา ยังบอกอีกว่า ไกด์ชาวกัมพูชาจะพยายามนัดตรวจกับแพทย์ประจำบ้าน เนื่องจากแพทย์กลุ่มนี้เป็นแพทย์ฝึกหัดเฉพาะทาง จึงทำการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียด ซึ่งจะใช้เวลาตรวจนานพอสมควรและที่สำคัญจะพยายามขอให้แพทย์ประจำบ้านส่งตรวจในส่วนอื่นๆ เพื่อวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม เช่น การเจาะเลือดเพื่อตรวจผลแล็บ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

"ผู้ป่วยที่เข้ามาจะมีโรคประจำตัว เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งในการรักษาไกด์ที่พามาจะอ้างว่าเป็นญาติกันและหากทำการซักถามมากก็จะโวยวายว่าเป็นการกีดกันผู้ป่วยต่างชาติ"

แพทย์โอดใช้เวลาตรวจนาน

จากการสอบถามแพทย์เวร กล่าวว่า การที่ทัวร์สุขภาพกัมพูชา-เวียดนามเข้ามารักษาโรงพยาบาลรัฐ ทำให้ในแต่ละวันแพทย์ซึ่งออกเวรตรวจคนไข้ตามนัดอยู่แล้ว และสามารถตรวจผู้ป่วยรายใหม่ได้เพียงอย่างน้อย วันละ 2-3 คน แต่ในช่วงหลังแพทย์แต่ละคนเริ่มพบว่าผู้ป่วยใหม่ที่เข้ามาตรวจรักษานั้นมีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นชาวกัมพูชาและเวียดนามที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ในการตรวจรักษาหมอจึงต้องรอให้ไกด์มาแปลภาษาทำให้เสียเวลา

ไกด์ชี้ชาวกัมพูชานิยมรักษาในไทย

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามไกด์ชาวกัมพูชา กล่าวว่า  ชาวกัมพูชานิยมเข้ามารักษากับแพทย์ไทยเพราะไม่มั่นใจการรักษาของโรงพยาบาลที่กัมพูชาเนื่องจากโรงพยาบาลที่กัมพูชายังไม่พัฒนามากนักกลุ่มผู้ป่วยกัมพูชาที่มีรายได้จึงเข้ามารักษาในไทย โดยจะจะแจ้งความประสงค์โรงพยาบาลที่ต้องการตรวจ

"ผู้ป่วยจะแจ้งความประสงค์ทัวร์จะบริการให้ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจก็สูงกว่าคนไทยอยู่แล้วถ้าโรงพยาบาลรัฐตรวจสุขภาพคนไทยประมาณ 3,000-4,000 บาทแต่ถ้าต่างชาติจะราคา 7,500-8,000 บาท แต่ถ้าโรงพยาบาลเอกชนจะราคา 15,000 บาทขึ้นไปซึ่งแพงกว่า"

ผอ.รามาฯ ชี้แพทย์คิวตรวจล้นมือ

ขณะที่ปัญหาดังกล่าว นายแพทย์ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีต้องทำการตรวจรักษาผู้ป่วยคนไทย กว่า 4,000 ราย ต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้แพทย์ต้องทำงานหนักอยู่แล้ว

ส่วนแผนกอายุรกรรมในแต่ละวันจะมีแพทย์ออกเวรตรวจรักษาประมาณ 50 คน และมีแพทย์ประจำบ้านร่วมตรวจรักษาด้วยจำนวนหนึ่ง ซึ่งตามมาตรฐานการตรวจรักษาของแพทยสภา แพทย์ 1 คน จะสามารถทำการตรวจผู้ป่วยได้เพียงแค่คนละ 10 นาที

นายแพทย์ธันย์ กล่าวต่อว่า การเดินทางเข้ามารักษาของชาวกัมพูชาจะเป็นแบบไม่มีคิวนัดตรวจ จึงเป็นการเข้ามาแย่งคิวตรวจรักษาผู้ป่วยภายในประเทศ และส่วนใหญ่จะเดินทางมาเป็นหมู่คณะครั้งละหลายสิบคน ซึ่งผู้ที่เป็นไกด์หรือนายหน้าจะมีการวางแผนสำหรับแทรกคิวตรวจรักษามาเป็นอย่างดี ซึ่งในกรณีผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนนั้น ทางโรงพยาบาลได้มีการกันคิวตรวจรักษาไว้อย่างจำกัด

"ทางออกสำหรับของปัญหาดังกล่าวนั้น ควรมีการพูดคุยอย่างเร่งด่วนเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติ และป้องกันการไหลเข้ามารักษาของชาวต่างชาติ ซึ่งต้องมีการพูดคุยอย่างชัดเจนว่าผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องการมาตรวจรักษาในไทย ต้องทำการนัดคิวตรวจล่วงหน้าเสียก่อน ซึ่งหากไม่ใช่ผู้ป่วยเร่งด่วนก็อาจต้องใช้ระยะเวลา 1-3 เดือน" นายแพทย์ธันย์ กล่าว

แพทยสภาเร่งวางหาทางแก้

นายแพทย์อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า ยังไม่มีมาตรการหรือกฎระเบียบเพื่อรับมือกับการจัดทัวร์สุขภาพ ที่มีการนำผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตรวจรักษายังในโรงพยาบาลรัฐ เพราะถือเป็นประเด็นใหม่ และทางแพทยสภาไม่เคยรับรู้ว่ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาก่อน

เบื้องต้นอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะทำการประชุมพูดคุยกับคณะอนุกรรมการแพทยสภาชุดเล็ก เพื่อรวบรวมข้อมูลในเรื่องดังกล่าว จากนั้นจึงจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ เพื่อระดมความคิดเห็นและหาแนวทางวางมาตรการแก้ไขและป้องกันต่อไป

"คงต้องหารือเพื่อแก้ปัญหาเพราะ นอกจากจะเป็นการแย่งคิวผู้ป่วยในประเทศ ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ปัญหาด้านบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ที่มีอยู่อย่างจำกัด และปัญหาการสื่อสารซึ่งอาจทำการรักษาจนเกิดข้อผิดพลาดมีผลเสียกับตัวผู้ป่วยเอง" นายแพทย์อำนาจ กล่าว

แนะหาข้อตกลงร่วมอาเซียน

นายแพทย์อำนาจ กล่าวต่อว่า การจัดทัวร์สุขภาพเข้ามาทำการรักษาในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งหากเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อม หรือเปิดแผนกรักษาผู้ป่วยต่างชาติอยู่แล้วก็จะไม่ถือว่าเป็นปัญหา ซึ่งการเปิดประชาคมอาเซียน อาจทำให้ผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียนในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน

หวั่นเปิดอาเซียนผู้ป่วยทะลักไทย

นายแพทย์สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายบริการ กล่าวว่า จากรายงานของฝ่ายบริการ ยังไม่พบการเข้ามาตรวจรักษาพยาบาลของชาวต่างชาติหรือชาวกัมพูชา ในลักษณะการจัดทัวร์สุขภาพแต่ก็จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวฝรั่งเศสและชาวแอฟริกัน เข้ามารักษามากกว่า

อย่างไรก็ตามหากเปิดประชาคมอาเซียนอีก 3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีการหลั่งไหลเข้ามารักษาพยาบาลจากประชาชนประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องทำการพูดคุย ถึงกฎระเบียบและข้อปฏิบัติการเดินทางเข้ามารักษาของกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนร่วมกัน

ที่มา:นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 ก.ย. 2555