ภายหลังจากคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) เสนอให้รัฐบาลแก้กฎหมาย 37 ฉบับ ที่ล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก และจะประชุมร่วมกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ ก็มีท่าทีคัดค้านจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งระบุว่ามีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องสิทธิของผู้บริโภค ดังนั้นจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในกฎหมาย 37 ฉบับ มีบางฉบับที่ภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเห็นด้วย เช่น พ.ร.บ.องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่นำกฎหมายภาคประชาชนมาร่วมพิจารณาแต่ไม่เห็นด้วยในการแก้ไขในอีกหลายฉบับเช่น พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ฯลฯ

"ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อพัฒนาปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายดังกล่าวข้างต้นประกอบด้วย ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม หรือไม่ก็ควรส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่มี ศ.คณิต ณ นคร เป็นประธานไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน" สารีกล่าว

จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยพ.ศ. 2551 เช่น การแก้ไขคำจำกัดความสินค้าที่ไม่ปลอดภัยให้มีความหมายถึงเฉพาะสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เพราะเหตุบกพร่องจากการผลิต การออกแบบ หรือคำเตือนเท่านั้น ขณะที่นิยามความหมายเดิมครอบคลุมดีแล้ว เพราะครอบคลุมไปถึงการไม่กำหนดวิธีการใช้ การเก็บรักษาหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับสินค้าด้วย

นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มข้อยกเว้นความรับผิดเพราะผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากข้อยกเว้น หากผู้เสียหายกล่าวอ้างว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานผู้เสียหายต้องมีภาระการพิสูจน์เองว่าสินค้าผลิตไม่ได้มาตรฐาน

ขณะที่ สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเสนอให้ยกเลิกธรรมนูญสุขภาพโดยให้ภาครัฐเลิกสนับสนุนภาษีหรือสิทธิพิเศษการลงทุนกับธุรกิจการแพทย์

"สาระสำคัญของธรรมนูญสุขภาพ ไม่ได้โทษภาคธุรกิจทำมาหากิน แต่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐต้องไปสนับสนุนธุรกิจทางการแพทย์ โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุน เพราะจะมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม"สุภัทรา กล่าว

เช่นเดียวกับ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นอกจากการเสนอยกเลิกธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติแล้ว ยังพบว่ามีการขอให้ยกเลิก พ.ร.บ.เครื่องมือการแพทย์ในประเด็นที่ห้ามนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้วจากประเทศอื่นทั่วโลกด้วย

"ปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาด้านการเข้าถึงทรัพยากรและการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุข ดังนั้นหากรัฐบาลยิ่งส่งเสริมการลงทุนมากขึ้นจะยิ่งเพิ่มปัญหา" กรรณิการ์ กล่าว

ขณะที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้งผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณนิเวศ กล่าวว่า ว่ามีความเห็นต่างกับข้อเสนอ กกร. เรื่องพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ที่ให้เอกชนสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ได้รับความเห็นชอบ

เพ็ญโฉม กล่าวว่า การพิจารณาอีไอเอเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงรายงานได้เป็นขั้นตอนอยู่แล้ว หากรายงานไม่ผ่านความเห็นชอบนั่นหมายถึงว่า โครงการนั้นๆ ย่อมมีปัญหารุนแรงหรือมีความไม่เหมาะสมที่จะให้ดำเนินการจริงๆ

"การแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่งในพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการสะท้อนความเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะกลุ่มภาคธุรกิจ ซึ่งไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของภาพรวม ดังนั้นควรมีการแก้ไขทั้งฉบับ เนื่องจากไม่ครอบคลุมกับปัญหาในปัจจุบัน เช่น ทำให้ครอบคลุมถึงการศึกษาผลกระทบเชิงพื้นที่ไม่ใช่รายโครงการ หรือมีผลต่อการอนุมัติการก่อสร้างโครงการ แก้ไขในประเด็นกองทุนสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมกับวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และเพิ่มโทษสำหรับผู้ก่อมลพิษทั้งทางแพ่งและอาญา" เพ็ญโฉม กล่าว

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 ก.ย. 2555