จากกรณีที่นายจ้างค้างชำระเงินสมทบประกันสังคมถึง 4,041 ล้านบาท ทำให้สำนักงานประกันสังคมต้องจ้าง เจ้าหน้าที่ทวงหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อมาติดตามหนี้ที่ค้างชำระเหล่านี้ ซึ่งจากการตามทวงหนี้นายจ้างเบี้ยวจ่ายในรอบ 6 เดือนล่าสุด สามารถทวงหนี้ได้แล้ว 383 ล้านบาท เรื่องนี้ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) อธิบายว่า ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการค้างชำระเงินสมทบ 36,002 ราย คิดเป็นเงินค้างชำระ 4,041 ล้านบาท โดยแยกเป็นสถานประกอบการที่ยังเปิดกิจการ 22,444 ราย คิดเป็นเงินค้างชำระ 2,427 ล้านบาท และสถานประกอบการที่หยุดกิจการ 12,861 ราย ค้างชำระ 1,545 ล้านบาท และสถานประกอบการที่เลิกกิจการ 697 ราย ค้างชำระ 68 ล้านบาท
ทั้งนี้ ล่าสุด สปส.ได้รายงานผลการติดตามทวงหนี้สถานประกอบการที่ค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในช่วงเดือน มี.ค.-ส.ค.2555 โดยติดตามทวงหนี้เงินสมทบจากสถานประกอบการ 16,495 ราย ยอดเงินที่ได้ทั้งหมด 383 ล้านบาท
นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า กรณีสถานประกอบการที่ยังเปิดกิจการอยู่และสถานประกอบการที่หยุดกิจการ สปส.จะติดตามทวงหนี้โดยเน้นการเจรจาเพื่อให้จ่ายหนี้ที่ค้างชำระ สถานประกอบการบางแห่งก็ชำระหนี้มาบางส่วน และบางแห่งก็ชำระหนี้มาทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีหนี้สินสะสมในระยะยาว ส่วนกรณีสถานประกอบการปิดกิจการ หากยังทรัพย์สินยังอยู่ก็จะอายัดทรัพย์ไว้เพื่อชำระหนี้ แต่ถ้าไม่มีทรัพย์สินก็จะฟ้องล้มละลายและให้ชำระหนี้เงินสมทบ
อย่างไรก็ตาม สปส.ได้จ้างงานเจ้าหน้าที่ติดตามทวงหนี้เป็นการชั่วคราวจำนวน 178 คน เป็นเงินกว่า 17 ล้านบาท โดยมีอายุสัญญาจ้าง 9 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาจ้างในช่วงเดือน ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินโครงการการจ้างงานเจ้าหน้าที่ติดตามทวงหนี้ได้ผลดี จึงมีแนวโน้มที่ สปส.จะต่อสัญญาจ้างกับเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ต่อไป
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 ก.ย. 2555
- 10 views