กรุงเทพดุสิตเวชการ ดึงหมอไทยในต่างประเทศเสริมทัพรับมือเออีซี เร่งซินเนอร์ยี่ ร.พ.เครือข่าย 28 แห่ง ปรับคุณภาพการดูแลผู้ป่วย ในแง่ความปลอดภัย เล็งเปิดศูนย์หัวใจ โดยโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพใน ร.พ.พญาไทอีก 2 แห่ง ผนึก ร.พ.ภูมิพลส่งต่อผู้ป่วยนอก เข้ารับบริการรังสีรักษา
น.พ.ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะผู้บริหาร ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 จากแผนที่วางไว้ 5 ปี สำหรับเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเออีซีปี 2558 อาทิ ขยายเครือข่ายโรงพยาบาล, เพิ่มความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลในกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการหรือบีจีเอชที่มีอยู่ 28 แห่ง, บุคลากรและบริการทางการแพทย์
สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ปัจจุบันทั้งเครือข่ายมีแพทย์ทั้งหมด 6,000 คน แบ่งเป็นฟูลไทม์ 2,000 คน ซึ่งมี นโยบายเพิ่มแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแพทย์คนไทยที่ทำงานในต่างประเทศมานาน 30-40 ปี และมีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานสากล ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐมีถึง 700 ครอบครัว ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มน้ำหนักมากขึ้น โดยมีแพทย์คนไทยในต่างประเทศที่ย้ายมาร่วมงานกับเครือบีจีเอชเฉลี่ย 10 คนต่อปี นอกจากนี้ยังจัดทำวารสารการแพทย์ของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ สนับสนุนงานวิจัยของแพทย์ เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีการรักษา
"แพทย์ที่อยู่ต่างประเทศนาน 30-40 ปี ก็อยากย้ายครอบครัวกลับมาเมืองไทย เรามีแพทย์กลุ่มนี้มานาน แต่ 2 ปีนี้มีจำนวน มากขึ้น อย่างที่หัวหินมี 9 คน สาขาเชียงใหม่อยู่ระหว่างสร้าง ก็สนใจชวนแพทย์ไทยในต่างประเทศและจบจากเชียงใหม่เข้ามา"
ด้านบริการ โรงพยาบาลกรุงเทพที่มีจุดแข็งในแง่ศูนย์หัวใจ มะเร็ง สมอง และกระดูก มีแผนเชิงรุกในการดูแลสุขภาพของคนทั่วไป อาทิ เปิดสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย เข้าถึงคนรุ่นใหม่และผู้ที่ไม่เจ็บป่วย ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงศูนย์อื่น ๆ อาทิ หัวใจ เบาหวาน ส่งเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย
น.พ.ชาตรีกล่าวอีกว่า นโยบายของบีจีเอชยังมุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลในเครือ ภายใต้แบรนด์กรุงเทพ, สมิติเวช, บีเอ็นเอช, พญาไท และเปาโลฯ อาทิ เตรียมปรับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลในเครือทั้ง 28 แห่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย และยังมีแผนเปิดศูนย์หัวใจ โดยโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ภายในโรงพยาบาลพญาไทเพิ่มอีก 2 แห่ง จากปัจจุบันมี 1 แห่งที่ร.พ.พญาไท 3 ซึ่งเปิดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับอย่างดี
นอกจากความร่วมมือในกลุ่มโรงพยาบาล ในเครือข่าย ล่าสุดศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล โดยโรงพยาบาลวัฒโนสถ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งต่อผู้ป่วยนอก เพื่อรับบริการรังสีรักษา กับโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยบางรายต้องการการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงก็จะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลวัฒโนสถ ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลวัฒโนสถได้มีความ ร่วมมือส่งต่อคนไข้ สปสช.บ้างแล้ว
ด้านพลอากาศตรีชูพันธ์ ชาญสมร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า โรงพยาบาลมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคนไข้ใหม่เข้ามาเดือนละ 40 ราย คนไข้ต่อเนื่องมี 60 รายต่อเดือน แต่น้ำท่วมในปีที่ผ่านมา ทำให้อุปกรณ์การแพทย์ได้รับความเสียหาย จึงเกิดความร่วมมือดังกล่าว โดยค่าใช้จ่ายยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ สำนักงานประกันสังคมหรือกรมบัญชีกลางที่คนไข้ถือสิทธิ์ ส่วนการติดตั้งเครื่องรังสีรักษา คาดว่าจะพร้อมติดตั้งและให้บริการไม่เกินครึ่งแรกของปี 2556
ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ 6 ก.ย.2555
- 1 view