คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิ เผย ม.41 คุ้มครองไม่ถึงผู้ประกันตนและข้าราชการ เล็งเสนอบอร์ด สปสช.-สปส.-กรมบัญชีกลาง ดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...ใช้แทน
ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเพิ่มค่าชดเชยกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยขยายวงเงินกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพอย่างถาวรจากไม่เกิน 200,000 บาท เป็น 400,000 บาท กรณีพิการจาก 120,000 บาท เป็น 240,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ขณะที่แพทยสภามีข้อเสนอให้บอร์ด สปสช. ขยายการชดเชยครอบคลุมไปถึงผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมนั้น
เมื่อวันที่ 4 กันยายน นางสุนทรี เซ่งกี่ ประธานคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมและการคุ้มครองสิทธิ บอร์ด สปสช. เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการได้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา โดยได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเปรียบเทียบว่าแต่ละกองทุนมีระบบการให้ความช่วยเหลือ หรือเยียวยาเบื้องต้นอย่างไร ปรากฏว่าทั้ง 2 กองทุน ไม่มีกองทุนเยียวยาให้กับผู้ป่วย
"จึงมีการหารือว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายมาตรา 41 ไปยังกองทุนเหล่านี้ด้วย ซึ่งจากการพิจารณาในที่ประชุมสรุปว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะแต่ละกองทุนมีกฎหมายเฉพาะ หากจะดำเนินการให้เท่าเทียม กันทั้งหมดต้องแก้กฎหมาย ผู้แทนทั้งจาก สปส. และกรมบัญชีกลาง จึงขอนำข้อมูลจากที่ประชุมกลับไปรายงานให้ผู้บริหารองค์กร รับทราบ เนื่องจากผู้แทนที่มาไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ ดังนั้น การคุ้มครองกรณีมาตรา 41 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จึงดูแลให้เฉพาะผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองเท่านั้น ส่วนกองทุนอื่นๆ จำเป็นต้องหารือกันอีกครั้ง" นางสุนทรีกล่าว และว่า ในที่ประชุมมีข้อเสนอ 2 ทาง คือ 1.รัฐบาลต้องมี นโยบายแก้กฎหมายแต่ละกองทุนเพื่อให้มีระบบช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น และ 2.ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... เพราะขณะนี้ยังรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ จะสรุปผลการประชุมเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ผ่านไป 4 เดือน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯยังไม่คืบหน้า ล่าสุดจึงได้ส่งหนังสือถึงนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทวงถามความ คืบหน้าเรื่องนี้ ซึ่งหากต้องมีการปรับปรุงร่างดังกล่าว ขอให้แล้วเสร็จก่อนการประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ จะเริ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้
ขณะที่นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สปส.ไม่มีระบบชดเชยดังกล่าว เพราะตามกฎหมายผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยหากจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เพราะจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนด้วย
--มติชน ฉบับวันที่ 6 ก.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 11 views