ระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบของไทย ได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่กำลังเริ่มใช้ (ใหม่) อยู่ในขณะนี้ แม้จะ มีข้อดีอยู่มาก แต่ละระบบยังมีปัญหาแตกต่างกันออกไป ทั้งการเงินการคลัง การเข้าถึงบริการ การควบคุมค่าใช้จ่าย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องยุทธศาสตร์สาธารณสุขของไทยในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีระบบการบริหารจัดการที่ไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเฉพาะปัญหางบประมาณ บุคลากร รวมทั้งการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งหากยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังในอนาคตอันใกล้ เราอาจต้องแก้ไขปัญหาที่ยากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะหากประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
ปัญหาที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเต็มร้อย โดยเฉพาะในระบบ 30 บาท ซึ่งลดข้อจำกัดในการไปหาหมอ แต่ในความเป็นจริงโอกาสเข้าถึงบริการของประชาชนยังคงมีอุปสรรค โดยเฉพาะประชาชนอยู่ในที่ห่างไกล ด้อยโอกาส นับเป็นอีกปัญหาหนึ่ง นี่เองจึงเป็นที่มาของนักสุขภาพครอบครัว หรือเรียกง่ายๆ ว่า นสค. ซึ่งเกิดขึ้น จากแนวคิดของ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขอย่าง นพ.นิทัศน์ รายยวา
คุณหมอนิทัศน์ เล่าถึงที่มาของ นสค. ว่า เกิดจากความต้องการที่อยากให้ประชาชนมีคนดูแลเหมือนญาติ ที่สามารถพูดคุยในเรื่องต่างๆ ได้ และมีความต่อเนื่อง เป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่างประชาชนกับหน่วยบริการของรัฐ
"สำหรับต้นแบบหรือแนวคิดนี้ เริ่มจากที่ผมทำงานอยู่ในชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในชุมชน รวมทั้งประชาชนเรียกร้องว่า น่าจะมีระบบหนึ่งที่จะเชื่อมระหว่างหมอ ในที่นี้หมายถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาล เขาเรียกคุณหมอหมด มูลเหตุจริงๆ ได้แนวคิดมาจากระบบของประเทศอังกฤษที่เขาใช้ดอกเตอร์ 1 คน ดูแลประชากรประมาณ 2,000 คน เขาทำตรงนั้น สำเร็จมาก่อนเราประมาณ 60 ปี
แต่บ้านเรา ถ้าจะเอาดอกเตอร์ลงไปทำมันเป็นเรื่องยาก ผมเลยทดลองใช้1) พยาบาล 2) นักวิชาการสาธารณสุข 3) เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข 4) เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 5) ทันตาภิบาล 6) แพทย์แผนไทย ลงไปทำ สรุปสั้นๆ ก็คือบุคลากรที่มีองค์ความรู้ทางสาธารณสุข ซึ่งเขาลงไปทำแล้วทำได้ค่อนข้างดี"
แนวคิด นสค. นี้ได้ทดลองทำจนประสบความสำเร็จใน 5 จังหวัดของภาคอีสานเหนือตอนบน ได้แก่ หนองคาย หนองบัวลำภู เลย อุดรธานี และบึงกาฬ ดูแลประชากรประมาณ 3.2 ล้านคน โดยให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในระดับตำบลประมาณ 3,000 คน ไปทำงานร่วมกับประชาชน เจ้าหน้าที่ นสค. 1 คน ดูแลประชาชนเป็นรายครัวเรือน ประมาณ 300 หลังคาเรือนหรือประมาณ 1,250 คน คนเหล่านี้ก็จะมีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดูแลกันเอง แต่หากเจ็บป่วย นสค.จะเป็นตัวเชื่อมคุณหมอเพื่อทำการรักษาในรายที่ซับซ้อนต่อไป ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสใช้บริการที่มีความจำเป็นมากขึ้น"
สำหรับ นสค. เวลาทำงานจะมี อสม. คอยช่วยเหลือ ทำให้โอกาสในการดูแลสุขภาพประชาชนไม่หลุดจากกรอบ โดยดูแลประชาชนทั้ง 5 กลุ่ม ภายใต้รหัส CANDO C คือ Child Care คือดูแลสุขภาพเด็ก 0-5 ปี เราก็จะดูว่าได้รับวัคซีนไหม พัฒนาการเป็นอย่างไร ขาดสารอาหารไหม A คือ Antenatal Care ผู้หญิงตั้งครรภ์ ดูแลให้ฝากท้องครบถ้วน 100% แปลว่าต้องเจาะเลือด ต้องทานอาหาร วัดความดัน ตรวจน้ำตาล ไขมัน ตรวจไข่ขาวในปัสสาวะ ฯลฯ N คือ None-Communicable ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง ความดัน D คือ Disability ดูแลคนพิการ ที่มีอยู่ประมาณ 2 % ซึ่งไม่มีทางหลุด และ O คือ Old สุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่โครงสร้างประชากร ผู้สูงอายุ
เมื่อเป็นเช่นนี้ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจึงดีขึ้น เพราะ อสม.จะรู้จักชาวบ้านทุกคน ซึ่งที่ผ่านมากว่า 2 ปี มีพัฒนาการค่อนข้างดี ประชาชนบางคนจำเป็นที่จะต้องดูแลโรคเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง เช่น คนที่เป็นเบาหวาน ความดัน ปรากฏว่า นสค. เข้าไปดูแล นอกจากจะได้ยาอย่าง ต่อเนื่องแล้วยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น การแนะนำคนเป็นเบาหวานกับการทานอาหาร การกินยา การออกกำลังกาย เป็นต้น นอกจากนี้ยังไปเยี่ยมประชาชนที่บ้านทุกครอบครัว ฯลฯ เป็นแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก
"เมื่อเราทำเชิงรุก รพ.ก็จะลดความแออัดลงหรือถ้าเป็นผู้ป่วยพิการ นสค.จะแนะนำให้ดัดแปลงอุปกรณ์เพื่อทำ กายภาพบำบัดที่บ้าน ช่วยลดค่าใช้จ่าย เวลา ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในรายที่มีปัญหาก็จะจัดให้มีแพทย์ที่ปรึกษา วันนี้ ถ้าคิดทั้งประเทศ เราต้องการแพทย์ประมาณ 4,000 คน นอกจากนี้หากแพทย์ที่ปรึกษาแก้ปัญหาไม่ได้ เราจะให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ตอบโจทย์ให้กับแพทย์ที่ปรึกษา อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่ทำมีอยู่ 2 ประการ 1) การกระจายบุคลากรสาธารณสุขไปทำงานในฐานะนักสุขภาพครอบครัว ตามหมู่บ้าน ตามตำบล ยังคงเป็นปัญหา เราก็จะให้อุปกรณ์ให้สิ่งอำนวยความสะดวก ที่ทดลองทำผมจะให้ 3 อย่าง คือ จักรยานยนต์เพื่อขี่ไปเยี่ยมชาวบ้าน, โปรโมชั่นมือถือ เพื่อการสื่อสารแบบ One Stop Service, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค เพื่อบันทึกประวัติประชาชน 2) คืองบประมาณซึ่งกระทรวงมีจำกัด แต่เราก็ใช้วิธีการบริหารจัดการ โดยใช้งบในส่วนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่า ถ้าส่งเสริมสุขภาพดี ทำให้คนไม่ป่วย ค่าใช้จ่ายก็น้อยลง ยกตัวอย่าง ขณะนี้เรามีผู้ป่วยรอล้างไตประมาณ 25,000-30,000 คน คนเหล่านี้ป่วยจากเบาหวาน ความดัน 70-80% ถ้าเราดูแล ความดัน เบาหวานได้ดี ไม่ให้เขาเปลี่ยนไปเป็น ไตวาย ประเทศชาติจะประหยัดงบประมาณไปได้เยอะ ด้วยเหตุผลนี้เอง งบประมาณดังกล่าวเราจึงใช้กระบวนการผลักดันให้เกิดขึ้น"
คุณหมอเล่าต่อไปว่า วันนี้ประเทศของเรามีค่าใช้จ่าย ด้านสุขภาพประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ในจำนวนดังกล่าว ส่วนใหญ่หมดไปกับการรักษาพยาบาล ด้วยเหตุนี้ หากมีระบบบริการสุขภาพที่ดีจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งจริงๆ แล้ว นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คุณวิทยา บุรณศิริ ที่ประกาศว่า กระทรวงจะจัดระบบให้มีหมอครอบครัวประจำตัวทุกครัวเรือน หากเรามองให้ลึกก็คือ นสค. ที่ได้ลองทำในภาคอีสาน โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันในบางประเด็น สำหรับโครงการนี้ จะสำเร็จได้จะต้องมีการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งในขณะนี้มีน้อยมาก ต่อไปกระทรวงคิดว่าจะเชิญท กมหาวิทยาลัยมาช่วยกันแล้วผลิตแพทย์สาขานี้ ทั้งนี้ จะต้องแก้ปัญหาศักดิ์ศรี หรือความเท่าเทียมกัน โดยจะต้อง มีเวทีให้เขาแสดงผลงานวิชาการที่น่าสนใจ รวมทั้งยกย่องให้เกียรติ
"ผมมองว่าแพทย์กลุ่มนี้จะสำคัญมากขึ้น และ นสค.ก็เช่นกัน ลองมองไปในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้าที่ AEC อาจจะกระทบต่อภาระงานของแพทย์ ถ้าหากประเทศของเราเปิดประตูให้คนมารักษา เพราะฉะนั้น ถ้าผมเป็นเจ้าของ รพ.เอกชน ถ้าคนไข้เพิ่ม บุคลากรก็ต้องเพิ่ม คนเหล่านี้มาจากไหน แน่นอนว่าโอกาสที่จะรับฟิลิปปินส์ อินโดฯ มาจะมีบ้างแต่ในฐานะที่เป็นคนไทย เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรจะไหลจากภาครัฐ ถ้ามองให้ลึกอาจจะมาจากต่างจังหวัด ในระดับล่างลงไปอีก ตามอำเภอเล็กๆ ก็จะไหลขึ้นมา เพราะฉะนั้นจุดตรงนี้น่ากลัว สุดท้ายจะอยู่ที่ตำบลที่ขาดโอกาส เพราะฉะนั้น นสค.จึงเป็นโอกาสหนึ่งที่เราต้องเร่งทำ ถ้าไม่เร่งทำผมยืนยันว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า อาจเกิดวิกฤตได้" คุณหมอนิทัศน์ กล่าวในตอนท้าย
ที่มา นสพ.มติชน (Hospital Healthcare) วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555
- 28 views