รพ.ดังเมินนโยบายรัฐบาล ไม่เก็บ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เริ่ม 1 ก.ย.นี้ อ้างยังไม่มีความพร้อม ลดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วย สถานพยาบาลหลายแห่งปฏิเสธที่จะสนองนโยบายรัฐบาล ที่ให้ประชาชนซึ่งใช้สิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรคแบบสมัครใจ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดให้สถานพยาบาลขนาดใหญ่ในเครือข่ายทั่วประเทศ ยกเว้นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป โดยสถานพยาบาลที่ปฏิเสธให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี เปิดเผยถึงการดำเนินตามนโยบายรัฐบาลในการร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรคว่า นโยบายนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขต้องเก็บเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับยา และหากผู้ป่วยไม่ประสงค์จ่ายก็ให้เป็นไปตามสิทธิผู้ป่วยนั้น ยืนยันว่า รพ.รามาธิบดีไม่ได้ต่อต้านนโยบายดังกล่าว แต่เพื่อเป็นการลดความยุ่งยากในการตรวจสอบสิทธิ ลดการเผชิญหน้าของเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วย ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้จ่ายและผู้ไม่ประสงค์ร่วมจ่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ยกเว้นกับบุคคลที่ไม่ประสงค์ร่วมจ่าย
"ที่ประชุมของ รพ.รามาธิบดีจึงมีมติยกเว้นการจัดเก็บเงินดังกล่าว และใช้ระบบเดิมด้วยคุณภาพและมาตรฐานเดิมทุกอย่าง โดย รพ.ยินยอมขาดรายได้ส่วนนี้ แต่จะนำรายได้ส่วนอื่นมาทดแทน เช่น เงินบริจาคในมูลนิธิ และใช้การลดต้นทุนการรักษา โดยรณรงค์ให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสม แม้ในแต่ละปีจะขาดทุนจากการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท จากการรักษาผู้มีสิทธิในระบบทั้งสิ้น 37,000 คน ก็ตาม" รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว
ด้าน รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ เป็น รพ.ขนาดใหญ่ที่กำลังอยู่ระหว่างทำแนวปฏิบัติและสื่อสารให้กับผู้ปฏิบัติงาน หากการสื่อสารแล้วเสร็จไม่ทันวันที่ 1 กันยายนนี้ รพ.จุฬาฯ จะเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก่อนให้ได้มากที่สุด โดยอาจต้องชะลอการเก็บเงินตามนโยบายดังกล่าวไปก่อน เพื่อให้ระบบเข้าที่กว่านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กรุงเทพ มหานคร (กทม.) โดย พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ประกาศชัดเจนว่าโรงพยาบาลในสังกัด กทม. 9 แห่ง ได้แก่ รพ.วชิรพยาบาล รพ.กลาง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ. ตากสิน รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.ลาดกระบัง รพ.เวช การุณย์รัศมิ์ รพ.สิรินธร รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ และศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่งทั่ว กทม.รับทราบนโยบาย แต่จะไม่ดำเนินตามนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาระหว่างให้บริการ และลดภาระของบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไม่ได้ระบุชัดถึงข้อปฏิบัติของหน่วยบริการว่า ต้องดำเนินการเก็บร่วมจ่ายหรือไม่ แต่เน้นในการให้บริการประชาชนและให้ร่วมจ่าย ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นจะผิดหลักกฎหมายหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ คงต้องกลับไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 กันยายนที่จะเริ่มเก็บเงินเป็นวันแรกนั้น สปสช.ได้เตรียมระบบรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านสายด่วน 1330
ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในกรณีที่โรงพยาบาลประกาศว่าจะไม่เก็บ 30 บาทนั้น ต้องมีเหตุผล ซึ่งนโยบายได้เปิดช่องไว้ให้ในกรณีที่ประชาชนไม่ประสงค์จะร่วมจ่ายได้อยู่แล้ว โดยเรื่องนี้เป็นนโยบายเพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพดำเนินไปอย่างดี ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการเมือง หรือต้องการจะสร้างแบรนด์แต่อย่างใด ทั้งนี้ การให้ประชาชนร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม ใด ทั้งนี้ การให้ประชาชนร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาท จะดำเนินการเฉพาะการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรณีเฉพาะรายที่ได้รับยาเท่านั้น โดยกลุ่มผู้ที่มีบัตรทอง 30 บาท ที่อยู่ในข่ายร่วมจ่ายมี 25.9 ล้านคน
"ค่ายายังฟรีเหมือนเดิม หรือกล่าวง่ายๆ ว่า ตรวจโรค ไม่รับยา ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ การร่วมจ่ายนี้เป็นการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจแก่ผู้รับบริการ และเป็นการกระตุ้นให้สถานพยาบาลทุกระดับพัฒนาคุณภาพบริการยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนผู้ที่ใช้บริการตรวจโรคหรืออื่นๆ เช่น ทำแผล ฉีดวัคซีน หรือใช้บริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดาร และ รพ.สต. ทั่วประเทศ ยังเป็นการให้บริการฟรี" นายวิทยากล่าว และว่า หากผู้ป่วยไม่ประสงค์ร่วมจ่าย สามารถสงวนสิทธิได้ โดยในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลได้จัดสรรงบรายหัวในโครงการ 30 บาท อัตรา 2,755.60 บาทต่อหัวประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2554 หัวละ 209.12 บาท
นายวิทยากล่าวว่า ผลการดำเนินงานโครงการ 30 บาทในรอบปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนได้รับการดูแลทั่วถึง โดยมีผู้เข้าใช้บริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกกว่า 153 ล้านครั้ง และนอนรักษาในโรงพยาบาลกว่า 5 ล้านราย โดยในผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงหรือโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะ 7 โรคได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการบำบัด 447,182 ราย ผ่าตัดสมอง 4,715 ราย ผ่าตัดหัวใจ 38,847 ราย ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม 6,292 ราย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับการดูแลล้างไตและฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 25,001 ราย และผ่าตัดเปลี่ยนไต 662 ราย ส่วนผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัส 153,214 ราย
--มติชน ฉบับวันที่ 2 ก.ย. 2555 (กรอบบ่าย)
- 8 views