ก.อุตสาหกรรมยืดเวลายกเลิกแร่ใยหิน 5 ปี พบยอดนำเข้าพุ่งกระฉูด สป.ห่วงปริมาณการใช้พุ่ง ทำสุขภาพคนไทยแย่ เผยออสเตรเลีย-ไต้หวัน เอาจริงยกเลิกสำเร็จ ลดงบประมาณดูแลสุขภาพ 7-8 แสนต่อหัว เตรียมจัดสัมมนาติดตามการใช้แร่ใยหิน 17 ส.ค.นี้
ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติการยกเลิกการนำเข้าและการผลิตของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) เมื่อปี 2554 ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องวางแผนการเลิกผลิต การหาสารทดแทน แต่ในทางปฏิบัติพบว่า ยังไม่มีการวางแผนการดำเนินงานให้เป็นไปตามมติครม. แต่มีการมอบหมายให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช (มสธ.) ศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า มีการยืดระยะเวลาการยกเลิกนำเข้าและผลิตของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินไปอีก 5 ปี ก่อนที่จะยกเลิกการผลิตอย่างถาวร แต่เมื่อดูจากข้อมูลการนำเข้าแร่ใยหินหลังจากมีการประกาศให้ยกเลิกการใช้ในอุตสาหกรรมนั้น พบว่า ปี 2554 มีปริมาณการนำเข้า 81,411 ตัน จากปี 2553 ที่นำเข้าเพียง 79,250 ตัน อีกทั้งราคานำเข้าเฉลี่ยต่อตันยังลดลงด้วย ทำให้มีความเป็นห่วงถึงการดำเนินการนโยบายดังกล่าว ทั้งที่ในทางปฏิบัติและตามกฎหมายหลังจากมีมติครม. จำเป็นต้องวางแผนการยกเลิกและปฏิบัติทันทีและยังพบว่ามีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่บางรายสามารถยกเลิกการใช้แร่ใยหินและใช้สารทดแทนได้แล้ว
“สภาที่ปรึกษาฯ มีหน้าที่ในการติดตามและนำส่งข้อเสนอต่อครม. และตรวจสอบว่ารัฐบาลสามารถทำตามนโยบายที่ได้ประกาศไปหรือไม่ โดยจากการติดตามอย่างต่อเนื่องในกรณีแร่ใยหินพบว่า ยังไม่มีการดำเนินมาตรการใดๆ และส่งเรื่องเพื่อศึกษาเพิ่มเติมทำให้ยืดระยะเวลาการยกเลิกออกไปอีกซึ่งจำเป็นต้องชี้แจงประชาชนให้ได้ว่า มีเหตุผลมากน้อยเพียงใด” ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ กล่าว
ดร.สุปรีดิ์ กล่าวว่า จากการศึกษานโยบายในประเทศไต้หวันในกรณีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินหลังจากมีการจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลพบว่า รัฐบาลมีความจริงจังในการดำเนินการอย่างยิ่ง มีกระบวนการติดตามข้อมูลสถานการณ์ทั้งในส่วนผลกระทบต่อการใช้แร่ในหินอย่างเป็นระบบ เช่น การศึกษาผู้ได้รับผลกระทบ การเจ็บป่วยจากแร่ใยหิน รวมถึงการศึกษาข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ จนนำไปสู่การวางแผนยกเลิกการใช้อย่างสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 นี้ จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไต้หวันลดลง 7-8 แสนบาทต่อประชากร ทั้งนี้ คนที่ไม่ได้รับอันตรายจากแร่ใยหินจะมีอายุต่อไปอีก 15 ด้วย หากประเทศไทยมีความห่วงใยสุขภาพของประชาชนจำเป็นต้องจัดทำมาตรการอย่างชัดเจน เช่น การทำความเข้าใจทั้งประชาชนและเอกชน การจัดหาวัสดุสารทดแทน มาตรการป้องกันในการทำลายวัสดุผสมแร่ใยหินในวัสดุก่อสร้างต่างๆ การติดตามผลกระทบจากการใช้แร่ใยหิน เป็นต้น
รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ กล่าวว่าหลังจากมีมติครม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปวางแผนในการยกเลิกการใช้แร่ใยหินได้ทันทีโดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อย่างกระเบื้องมุงหลังคา ที่จำเป็นต้องยกเลิกทันทีเนื่องจากมีปริมาณการใช้มาก โดยล่าสุด ประเทศออสเตรเลีย ได้สั่งห้ามนำเข้ารถยนต์จากประเทศจีน 2 ยี่ห้อดังที่ตรวจพบว่าเครื่องยนต์ และระบบท่อไอเสีย มีส่วนผสมของแร่ใยหิน พร้อมทั้งสั่งระงับการจำหน่ายรถยนต์ที่ตรวจพบแร่ใยหินด้วย ซึ่งเป็นมาตรการที่เข้มข้น แต่ประเทศไทยกลับจะรอผลการศึกษาและขยายเวลาสร้างความเสี่ยงกับประชาชนต่อไป ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น อย่างผ้าเบรกในรถขนาดใหญ่ หากยังมีปัจจัยเรื่องการหาสิ่งทดแทนก็สามารถอนุโลมยืดเวลาในการยกเลิกการใช้ออกไปก่อนได้
ทั้งนี้ ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น. สป. จะมีการสัมมนาติดตามการดำเนินงานเรื่อง “การจัดการอันตรายจากแร่ใยหิน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค” ที่ห้องประชุมสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยจะได้มีการจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลหลังจากการติดตามการดำเนินงานดังกล่าว
- 1 view