"นักวิชาการ-เอ็นจีโอ" ให้คะแนนรัฐบาล "สอบผ่าน" ผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลงานเด่นลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน หนุนรวมการบริหาร "กองทุนฉุกเฉิน" ชูผลงานรวมบริหาร "กองทุนฉุกเฉิน"  สร้างความเท่าเทียมอ้างโพลล์ชาวบ้านชอบ รอลุ้นให้ครอบคลุม "โรคเอดส์-ไต" พร้อมให้คะแนนความพยายามดีกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ค้านแนวคิดเก็บ 30 บาท ติงอย่ามองข้ามปัญหาขาดแคลนเตียง-หมอ

ในวาระใกล้ครบ 1 ปีการบริหารประเทศของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเอาไว้เมื่อปลายเดือน ส.ค.2554 ประเด็นที่หลายฝ่ายหยิบยกมาประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาล คือ การขับเคลื่อนนโยบายประชานิยม ในฐานะที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าตำรับ "ประชานิยม" ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อครั้งรัฐบาลพรรคไทยรักไทย (2544-2549)
และหนึ่งในนโยบายที่ถูกจับจ้องมากเป็นพิเศษ คือ นโยบาย "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ซึ่งหากพิจารณากันตามเนื้อผ้า ก็เป็นเพียงการสานต่อนโยบายจากรัฐบาลไทยรักไทยในอดีตที่เป็นผู้ริเริ่มเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ตลอดระยะเวลา 1 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้จะมีการผลักดันนโยบายใหม่ๆ ออกมาสนับสนุนและขับเคลื่อนเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุม กว้างขวาง และเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น แต่เสียงตอบรับกลับไม่ดังเท่าที่ควร

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ได้ผลักดันงานในระบบหลักประกันสุขภาพหลักๆ 3 ด้าน กล่าวคือ 1.การลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน ได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ 2.การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่เน้นการรักษาใกล้บ้านใกล้ใจ ใช้ยาคุณภาพ ไม่ต้องรอคิวนาน และ 3.การเดินหน้าร่วมจ่าย 30 บาท   

ในแง่ของการลดความเหลื่อมล้ำการรักษาพยาบาลนั้น นับเป็นความตั้งใจของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี โดยเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลประกาศจะบูรณาการระบบหลักประกันสุขภาพ และปรากฏผล เป็นรูปธรรมเห็นชัด คือ การรวมการบริหารจัดการ "กองทุนฉุกเฉิน" เพื่อดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤติอย่างทันท่วงที ให้เกิด ความเสมอภาคในการเข้าถึงการรักษายามจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลด้วยการสอบถามความเห็นจากผู้รับบริการจำนวน 600 คน เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนากลไก

ส่วนกรณีการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนและถูกเรียกเก็บเงินนั้น นพ.วินัย กล่าวว่า ยังมีการร้องเรียนอยู่บ้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อจัดทำกลไกการจ่ายค่ารักษาร่วมกัน 
เร่งขยายหลักประกันรวม "เอดส์-ไต"

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า การดำเนินการในขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายหลักประกันให้ครอบคลุมผู้ป่วยโรคเอดส์และโรคไต โดยในส่วนของโรคเอดส์นั้น คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือน ต.ค.2555 เป็นการจัดทำเกณฑ์รักษาร่วมกันให้เป็นมาตรฐานเดียว ตั้งแต่การตรวจซีดีโฟร์ การตรวจจำนวนไวรัส การให้ยาต้านไวรัสที่ต้องเริ่มต้นจากสูตรพื้นฐาน เกณฑ์การเปลี่ยนยาต้านไวรัส รวมไปถึงการจัดทำระบบข้อมูลเพื่อให้สะดวกในการรับยาหลังมีการเปลี่ยนสิทธิ์ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา

สำหรับผู้ป่วยโรคไต ยอมรับว่ามีความยุ่งยากมากกว่า เพราะมีเกณฑ์การรักษาแตกต่างกันมาก ตั้งแต่การจ่ายยากระตุ้นเม็ดเลือด การฟอกเลือด โดยอัตราค่าฟอกเลือดของ สปสช.จะอยู่ที่ 1,500 บาทต่อครั้ง สวัสดิการข้าราชการ 2,000 บาทต่อครั้ง ขณะที่ประกันสังคมจ่าย 1,500 บาท แต่ผู้ป่วยอาจต้องร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ ดังนั้นการดำเนินการคงไม่ง่ายนัก

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คือ สิทธิรักษาพยาบาลในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ข้าราชการและพนักงานระดับท้องถิ่นได้รับสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมไปถึงการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเพื่อให้อยู่ในอัตราเดียวกัน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ 

สวปก.ชี้สอบผ่านความพยายาม

นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวว่า 1 ปีของรัฐบาลยังไม่เห็นผลอะไรชัดเจนเรื่องหลักประกันสุขภาพ แต่หากพิจารณาในด้านความพยายามเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ถือว่าสอบผ่าน โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม โดยได้เริ่มต้นในส่วนของผู้ป่วยฉุกเฉิน และอยู่ระหว่างการทำประเมินผล

นอกจากนี้ ยังเห็นความพยายามในการเข้าจัดการโครงสร้างบริหารภายในเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับ สปสช.ที่เป็นรูปธรรม เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของบอร์ด ทั้งยังทำให้การเมืองสามารถมีบทบาทในการกำหนดนโยบายเพื่อขับเคลื่อนระบบด้วย 

ชาวบ้านชอบ "ลดเหลื่อมล้ำ" ผู้ป่วยฉุกเฉิน

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ช่วง 1 ปีของการเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายใต้การนำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นโยบายที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดคือการเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมาที่แทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยเริ่มต้นจากนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในส่วนของผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้สามารถเข้าถึงการรักษาในช่วงวิกฤติ ถือเป็นนโยบายที่ประชาชนให้ความพอใจเป็นอันดับ 1 จากโพลล์สำรวจความเห็นของประชาชนที่จัดทำโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  

"นโยบายดังกล่าวยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงอยู่บ้าง เนื่องจากยังมีผู้ป่วยที่อยู่นอกเหนือจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษาในช่วงวิกฤติ ไม่สามารถเข้ารักษายังโรงพยาบาลใดก็ได้โดยใช้สิทธิ์ตามระบบนี้ ถือว่ายังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม" นพ.พงศธร ระบุ  

เมินปัญหาขาดแคลน "เตียง-หมอ"

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการลดความเหลื่อมให้กับประชาชนนั้น ขณะนี้ระบบประกันสังคมที่มีกลุ่มผู้ประกันตน 10 ล้านคน ยังเป็นระบบเดียวและยังต้องร่วมจ่าย ต่างจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการข้าราชการที่ภาครัฐเป็นผู้ดูแลทั้งหมด มีรูปแบบการดำเนินการ โดยระบบประกันสังคมเป็นการนำรูปแบบจากประเทศเยอรมนีมาใช้ ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นการนำรูปแบบของอังกฤษมาใช้ ซึ่งรัฐบาลควรเลือกเดินแนวทางใดแนวทางหนึ่ง

ส่วนปัญหาในระบบรักษาพยาบาล เห็นว่าในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนเตียง รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ยังไม่มีความคืบหน้าจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา เพราะที่ผ่านมาเน้นไปที่การเพิ่มบริการ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 แต่ในส่วนของผู้ให้บริการและการขยายบริการเพื่อรองรับผู้ป่วยกลับไม่มีการดำเนินการ

สพศท.ให้คะแนนรัฐบาลสอบผ่าน

ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า หากพูดถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงบอร์ด สปสช.ของรัฐบาล ทำให้แนวโน้มการพัฒนากองทุนดีขึ้น โดยขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการปรับปรุงตนเอง เชื่อว่าน่าจะดีขึ้นในปีถัดไป

ส่วนการทำงานของ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั้น เห็นว่าทำงานได้ดี เพียงแต่ที่ผ่านมาติดปัญหาน้ำท่วม ทำให้เหลือเวลาทำงานจริงไม่กี่เดือน แต่ก็ถือว่าสอบผ่าน
"มองว่าในด้านระบบหลักประกันสุขภาพ รัฐบาลสอบผ่าน เพียงแต่คะแนนที่ได้ไม่สูง ซึ่งยังเห็นควรให้รัฐบาลทำงานต่อไป และเชื่อว่าในปีหน้าคงจะได้เห็นผลมากขึ้น" พญ. ประชุมพร ระบุ

"เอ็นจีโอ"ให้คะแนน 4 เต็ม 10

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หากดูตามธงสูงสุดของคนทำงานระบบสุขภาพเพื่อมุ่งให้การรักษาพยาบาลเป็นระบบมาตรฐานเดียว มีสิทธิการรักษาเดียวกัน ต้องบอกว่ารัฐบาลได้ 4 จาก 10 คะแนน เพราะเห็นว่ารัฐบาลยังขาดความเข้าใจ

ส่วนที่ให้ถึง 4 คะแนนนั้น เพราะมีการเดินหน้าที่เป็นรูปธรรม อย่างเช่น การรวมบริหารจัดการกองทุนฉุกเฉิน 3 กองทุน ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีความเท่าเทียม เข้ารักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องถามสิทธิ เรียกว่าเป็นบันไดขั้นแรกของการรวมบริหารจัดการ ซึ่งหากรัฐบาลขยับไปยังโรคเอดส์ โรคไต และมะเร็ง คะแนนก็จะขยับไปอยู่ที่ 6-7 คะแนน เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ และอยากเห็นการสานต่อในปีที่ 2 ของรัฐบาล
"ยอมรับว่าในการลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลชุดนี้คืบหน้ากว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งผมให้คะแนน 0-1 เท่านั้น และเมื่อดูความตั้งใจก็ยังให้คะแนนอยู่ เพราะมีความพยายามดึงให้เกิดการมีส่วนร่วม" นายนิมิตร์ กล่าว  ในส่วนที่ให้คะแนนเป็นลบและเห็นว่าเป็นการดำเนินงานที่ผิดพลาด นายนิมิตร์ กล่าวว่า คือเรื่องการจัดเก็บ 30 บาท เพื่อรีแบรนด์ 30 บาทกลับมา เพราะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย สำหรับในมุมมองที่มีต่อ นายวิทยา ส่วนตัวให้สอบผ่านเรื่องความขยัน และความพยายามเข้าใจประเด็นที่ดีขึ้น หากมีการรับฟังมากขึ้น ประกอบกับมีทีมชงประเด็นที่เข้าใจระบบสุขภาพมากกว่านี้ ก็จะทำให้การทำงานดีขึ้นกว่าเดิม

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555