รัฐบาลจัดทัพด้านสาธารณสุขเตรียมเข้าสู่ประชาอาเซียน เล็งพัฒนามาตรฐานอาหารไทย สินค้าโอท็อป-แปรรูปทุกชนิดให้ได้จีเอ็มพีหวังส่งออก
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ.ว่า ที่ประชุมหารือถึงการ เตรียมพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ตามนโยบายรัฐบาล โดยได้เร่งรัดเรื่องการพัฒนามาตรฐานอาหารไทย สินค้าโอท็อป สินค้าแปรรูปทุกชนิดที่อยู่ในภาชนะบรรจุเสร็จพร้อมปรุง และพร้อมบริโภคให้เข้าสู่มาตรฐานการผลิตที่ดีขั้นพื้นฐาน หรือไพรมารี จีเอ็มพี (Primary GMP) เพื่อให้สินค้าไทยทุกประเภทมีมาตรฐานสากล โดยมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เร่งพัฒนาด้านวิชาการ อบรมผู้ประกอบการทุกจังหวัดร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด ไม่ต้องรอ 3 ปี ที่จะมีการบังคับใช้จริง
"สินค้าดังกล่าวเมื่อผ่านมาตรฐานจีเอ็มพีแล้ว สามารถส่งจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อต่างๆ และตลาดอาเซียนได้ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน และเกิดกระแสเงินหมุนเวียนในประเทศและการส่งออก คาดว่าจะเพิ่มมูลค่ารายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท" นายวิทยากล่าว
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้เตรียมข้อมูลความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ระบบบริการทางการแพทย์ โดยจะเพิ่มการผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้ประชาชนไทยและต่างชาติได้รับบริการที่มีคุณภาพ 2.ด้านอาหารมอบหมายให้ อย.ดูแล โดยได้เตรียมแผนดำเนินการพัฒนาให้สินค้าโอท็อปทั้งหมดให้ได้มาตรฐานการผลิตที่ดีขั้นพื้นฐาน และ 3.การควบคุมโรคติดต่อจะต้องพัฒนาระบบให้ได้มาตรฐานอนามัยระหว่างประเทศ หรือไอเอชอาร์ (IHR:International Health Regulation)
"ประเด็นด้านการบริการทางการแพทย์นั้น สิ่งสำคัญคือต้องมีบุคลากรสาธารณสุขให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริการของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และทันตแพทย์ ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดที่มีการสำรวจความต้องการในปี 2558 พบว่า สาขาวิชาชีพแพทย์ ขณะนี้มีกำลังผลิตต่อปี 2,500 อัตรา ซึ่งในส่วนของภาครัฐยังขาดแคลน 10,719 อัตรา ขณะที่ความต้องการสำหรับรองรับอาเซียน 1,200 อัตรา รวมแล้วยังขาดแคลนแพทย์ 11,974 อัตรา ส่วนสาขาวิชาชีพพยาบาล กำลังผลิต 10,000 อัตราต่อปี ภาครัฐยังขาดแคลน 16,030 อัตรา ความต้องการสำหรับรองรับอาเซียน 5,454 อัตรา รวมขาดแคลนพยาบาล 21,628 อัตรา และสาขาวิชาชีพทันตแพทย์ กำลังผลิต 800 คนต่อปี ซึ่งภาครัฐยังขาดแคลน 2,900 อัตรา ความต้องการสำหรับรองรับอาเซียน 345 อัตรา รวมขาดแคลนทันตแพทย์ 3,267 อัตรา" นพ.ไพจิตร์กล่าว
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย.กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสินค้าโอท็อปประมาณ 20,000 รายทั่วประเทศ เฉลี่ยจังหวัดละ 200-300 ราย อย.ได้มอบอำนาจให้ สสจ.ออกใบอนุญาตประกอบการได้ หากระบบการผลิตได้ตามเกณฑ์มาตรฐานจีเอ็มพีขั้นพื้นฐาน เช่น เกณฑ์ความสะอาดสถานที่ ความปลอดภัย คุณภาพวัตถุดิบที่ใช้ ระบบการควบคุมคุณภาพ ขณะนี้ อย.ได้จัดอบรมผู้แทนจังหวัดไปแล้ว 2 รุ่น เพื่อนำไปถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยได้มอบประกาศนียบัตรให้ผู้ประกอบการที่พัฒนาผ่านเกณฑ์แล้วประมาณ 400 ราย และจะดำเนินการส่วนที่เหลือให้ครบโดยเร็วที่สุด
--มติชน ฉบับวันที่ 8 ส.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 1 view