1 กันยายน 2555 วันแรกของการกลับมาเก็บ 30 บาทต่อครั้งการใช้บริการทางการแพทย์ของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลังยกเลิกไปนานถึง 5 ปีในช่วงรัฐบาลขิงแก่ ยุคที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)
"การร่วมจ่าย 30 บาท เป็นการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจแก่ผู้รับบริการ จะเน้นให้บริการด้วยหัวใจ ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ใช่บริการแบบอนาถา" เหตุผลของ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในการฟื้นเก็บ 30 บาท ตามนโยบายรัฐบาล
แน่นอน! ไม่มีใครที่จะปฏิเสธว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่เริ่มต้นขึ้นในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยนั้น ท้ายที่สุดจะต้องหวนกลับมาสู่ "การร่วมจ่าย" ของประชาชน เพราะรัฐบาลคงไม่อาจแบกภาระค่ายใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลักการของการร่วมจ่ายจากการศึกษาใน 10 ประเทศของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)พบว่า เป็นไปเพื่อปรับพฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพของประชาชนและลดค่าใช้จ่ายสุขภาพ แต่ตัวเลขการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในช่วงปีที่เก็บกันอย่างมีนัยสำคัญ นั่นหมายความว่าการเก็บ 30 บาท ไม่ใช่ตัวแปรช่วยสกัดประชาชนให้มาใช้บริการอย่างสมเหตุสมผลหรือน้อยลง
น.ส.กชนุช แสงแถลง โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมกับนักวิชาการทำการศึกษาถึงความจำเป็นในการเก็บ 30 บาท และสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเมื่อไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งพบว่า มีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะค่าเดินทางที่จำเป็นต้องเหมารถ อีกทั้งสูญเสียรายได้จากการประกอบอาชีพรายวัน ดังนั้น หากไม่จำเป็นจริงๆจะไม่มีใครยอมขาดรายได้เพื่อเสียค่าใช้จ่ายไปโรงพยาบาล
แล้ว 30 บาทยุคใหม่ ต่างจาก 30 บาทยุคเก่า หรือยุครักษาฟรี ไม่มี 30 บาทหรือไม่
ในแง่สิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือสิทธิจะได้รับ แม้สโลแกนของ 30 บาทยุคใหม่จะมีว่า "เพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มคุณภาพ เพิ่มความสะดวก" โดยเพิ่มขึ้น 11 ข้อ อาทิ เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ์ไม่ต้องสำรองจ่าย ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น,ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเปลี่ยนหน่วยบริการประจำปีได้ปีละ 4 ครั้ง เดิม 2 ครั้ง,โรงพยาบาลทุกแห่งบริการตลอดวันตั้งแต่ 08.00-16.00 น.,ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เอชไอวี/เอดส์ รักษาเท่าเทียม มาตรฐานเดียว และผู้สูงอายุ 70 ปีไม่ต้องรอคิวเป็นต้น
เหล่านี้ล้วนแต่เรียกได้ว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่แม้ไม่ให้ประชาชนร่วมจ่าย 30 บาท อาศัยการบริหารจัดการภายในของหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลและการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)บริการพื้นๆเช่นนี้ก็ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยากเย็น
สำหรับหน่วยบริการ ซึ่งก็คือโรงพยาบาลรัฐเป็นส่วนใหญ่ จะได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้เพียงใด?เมื่อปี 2546 มีเงินจากการเก็บค่าบริการครั้งละ 30 บาท รวมทั้งประเทศจำนวน 1,073 ล้านบาท ส่วนครั้งนี้มีการประมาณการว่าจะมีรายได้ ราว 1,900 ล้านบาท โดยหากเฉลี่ยออกเป็นรายโรงพยาบาลบางแห่งถึงกับเอ่ยปาก "เงินบริจาคยังได้มากกว่า" ทางกลับกันกลับเป็นการเพิ่มภาระให้โรงพยาบาลที่อยู่ในภาวะแทบกระอักเลือดทั้งสิ้น เสียงสะท้อนที่สำคัญเกิดขึ้นในวงชี้แจงนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทแก่ผอ.โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปหรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด และตัวแทนผอ.โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ ที่มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า ผอ.โรงพยาบาลเกรงปัญหาที่จะเกิดขึ้นใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ไม่อยากให้สร้างความคาดหวังให้แก่ประชาชนมากเกินไปว่าจะต้องได้รับบริการเช่นนั้นเช่นนี้หากร่วมจ่าย 2.เพิ่มขั้นตอนการให้การบริการขึ้นในเรื่องของการตรวจสอบสิทธิ์และถามความสมัครใจร่วมจ่าย 3.การบริหารจัดการและค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นทั้งการทำงานของคนและค่าเอกสาร และ 4.ไม่เป็นการตอบสนองนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นแบ่งคนจนหรือไม่จน
ตอกย้ำอีกครั้ง เมื่อการเก็บ 30 บาทจะยกเว้นให้แก่ผู้ถือสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 21 กลุ่มตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ถือสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งหมดที่มีอยู่ราว 48 ล้านบาท ที่น่าสนใจตรงการยกเว้นข้อ 21 ที่ระบุว่า บุคคลที่ไม่ประสงค์ร่วมจ่าย ย่อมเท่ากับประชาชนที่ไม่อยากจ่ายก็ไม่ต้องจ่าย สิ่งนี้อาจเป็นการสะท้อนได้อย่างหนึ่งหรือไม่ว่า การจ่ายหรือไม่จ่าย 30 บาทของประชาชน เม็ดเงินที่ได้ไม่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบบริการให้ดีขึ้น
จึงค่อนข้างชัดเจน ประโยชน์สูงสุดตกที่พรรคการเมืองเจ้าของนโยบาย เป้าหมายหลักของการร่วมจ่าย 30 บาท เพียงแค่ต้องการ รีแบรนด์ ให้ประชาชนจดจำได้ไม่ลืมเท่านั้นว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นอันเดียวกับ "30 บาทรักษาทุกโรค" เจ้าของนโยบาย คือ พรรคไทยรักไทย พี่ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย
"ไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลใดๆที่ประชาชนต้องร่วมจ่าย เพราะไม่ได้ส่งผลดีหรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและระบบหลักประกันสุขภาพ การเรียกเก็บ 30 บาทอีกครั้งจึงมีเพียงเหตุผลเดียว คือการรีแบรนด์ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมือง โดยหวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้า การดำเนินการนโยบายนี้จึงมีเพียงรัฐบาลเท่านั้นที่ได้ประโยชน์" น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์ผู้บริโภค กล่าว
การร่วมจ่ายของประชาชนเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่การจะเริ่มเดินแนวทางนี้ควรมีการคิดรูปแบบ แนวทางที่เหมาะสมกับประเทศไทยก่อน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและระบบไม่เสียหาย
ที่มา : นสพ.คมชัดลึก วันที่ 31 ส.ค.2555
- 18 views