เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการเข้าถึงยาออกมาเปิดโปงพฤติกรรมล็อบบี้ยิสต์บริษัทยาข้ามชาติแทรกซึมไปในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา, สภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้า เพื่อใช้ชื่อองค์กรเหล่านี้สร้างความชอบธรรมในการเร่งการเจรจาเอฟทีเอ และยอมรับเงื่อนไขของสหภาพยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของคนไทย
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาล็อบบี้ยิสต์บริษัทยาข้ามชาติพยายามแทรกเข้าไปในหน่วยงานต่างๆ เช่น เป็นคณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภา เพื่อโจมตีการประกาศบังคับใช้สิทธิในประเทศไทย ทั้งที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯเคยร้องเรียนถึงความไม่ชอบธรรมดังกล่าวก็ยังปล่อยให้มีรายงานที่มีอคติและไม่มีฐานทางวิชาการออกมา และล่าสุดยังพยายามใช้ชื่อของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากยุโรปมาทำงานวิจัยเร่งด่วนใน 2 สัปดาห์เพื่อสนับสนุนการยอมรับเนื้อหาความตกลงที่เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์
“เราจะทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปเพื่อสอบถามเรื่องนี้กับสภาหอการค้า เพราะข่าวที่ได้มาไม่ใช่เงินสภาหอการค้าที่จัดจ้าง แต่เป็นเงินของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่ทำอย่างไม่ชอบธรรม เราต้องการรู้ว่าสภาหอการค้ายอมรับให้เกิดการกระทำเช่นนี้ได้อย่างไร พวกเราไม่ได้ค้านการทำเอฟทีเอ แต่คัดค้านการทำเอฟทีเอที่เอาแต่ประโยชน์ทางการค้าของคนบางกลุ่ม โดยทิ้งภาระให้คนทั้งประเทศแบกรับ หากการเจรจาการค้าใช้วิชาการเข้าช่วยและมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่รับสนองกันเป็นลูกคลื่นแบบนี้ ซึ่งเป็นความผิดปกติตั้งแต่ การทำความเห็นของกรมเจรจาฯที่บิดเบือนงานวิจัยทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในประเทศไทยว่า การยอมรับทริปส์พลัสไม่มีผลกระทบ เชื่อว่างานนี้เป็นการจับมือกันระหว่างผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่และกลุ่มบริษัทยาข้ามชาติ”
ทางด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากวุฒิสภา และสภาหอการค้าแล้ว ที่ผ่านมา กลุ่มเหล่านี้ยังแทรกซึมเข้ามาเคลื่อนไหวในนามสภาอุตสาหกรรมด้วย
“ในคณะกรรมการกลไกความร่วมมือระดับประเทศ (Country Coordinating Mechanism- CCM) ของกองทุนโลก (Global Fund) ในประเทศไทย คนเหล่านี้ไปล็อบบี้ให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยส่งสมาคมผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ หรือ PReMA และตัวแทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาเป็นผู้แทนใน CCM ซึ่งภาคประชาสังคมกังขาถึงความเหมาะสมและการทับซ้อนด้านผลประโยชน์ ทำให้มีการคัดค้านทั้งจากภาคประชาสังคมและภาควิชาการโดยตลอด และเราได้ทำหนังสือคัดค้านอย่างเป้นทางการไปยังสภาธุรกิจทั้งสองแล้ว”
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมไม่ได้คัดค้านการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป แต่การเร่งรัด บิดเบือนความจริง ละทิ้งงานวิชาการ และการแผ่ซ่านทางอิทธิพลของล็อบบี้ยิสต์เช่นนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ดังนั้น พวกเราจะขอติดตามตรวจสอบและร้องเรียนไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอเรียกร้องให้กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ นำเอกสาร Scoping exercise ที่ไปทำกับสหภาพยุโรปเมื่อปลายเดือน ก.ค. ออกมาเปิดเผย เพราะถือว่าเป็นการพยายามไปทำความผูกพันไว้ก่อนหน้าที่เรื่องนี้จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เราเชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้จะต้องฟังเสียงประชาชน”
เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทย ได้เสนอต่อรัฐบาลว่า ‘ควรกำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยอาจยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPs หรือยอมรับ TRIPs Plus ในการจัดทำการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เนื่องจากการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา (Data Exclusivity) เพิ่มเติม 5 ปีจะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน และการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาอาจมีผลทำให้ยาสามัญ (Generic drugs) วางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อยามีจำกัด’ และจะเร่งนำร่างกรอบดังกล่าวเข้าสู่ ครม.ใน 1-2 สัปดาห์นี้เพื่อทันการพิจารณาของรัฐสภาในสมัยนี้ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าข้อสรุปดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะมีงานวิจัยอย่างน้อย 3 ชิ้นที่ใช้งบประมาณกรมเจรจาฯจัดจ้างต่างชี้ว่ามีผลกระทบรุนแรง แค่เพียงการผูกขาดข้อมูลทางยาประการเดียวจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นทุกปี โดยนับจากปีที่ 5 เป็นต้นไปจะมีผลกระทบมากกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นทุกงานศึกษาจึงสรุปว่า ไม่ควรรับข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าทริปส์
- 1 view