นายสมคิด ด้วงเงิน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ประกันสังคมมาตรา 40 ที่ขยายคุ้มครองไปยังกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ค. 2554 ขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมากถึงกว่า 9 แสนคน แต่ทราบว่าจำนวนนี้มีการจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องเพียง 52% โดย 48% ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ไม่จ่ายเงินหรือจ่ายเงินไม่ต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรับสิทธิประโยชน์ เนื่องจากเงื่อนไขสำคัญที่จะเกิดสิทธิ์ คือ ต้องมีการจ่ายเงินต่อเนื่องจนถึงระยะเวลาที่เกิดสิทธิ์ ซึ่งหากผู้ประกันตนไม่จ่ายเงินเพียง 1 เดือน จะพ้นจากการเป็นผู้ประกันตน จนกว่าจะมีการจ่ายเงินจึงจะกลับมามีสถานะเป็นผู้ประกันตน รวมทั้งไม่สามารถจ่ายเงินย้อนหลังได้
"มีประเด็นต่างๆ มากมายที่จะต้องผลักดันเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพราะเรื่องต่างๆ มีผลต่อปัจจัยความสำเร็จของกองทุน ไม่เช่นนั้นเชื่อว่าจะเหลือแต่ชื่อ ผู้ประกันเหลือน้อย ร่อยหรอลง เพราะเพียงการรณรงค์ ที่แม้จะมีผู้ลงทะเบียนจำนวนมาก ไม่ถือเป็นผู้ประกันตน แต่ต้องมีการจ่ายเงินสมทบ เข้ากองทุน โดยประเด็นที่เครือข่ายแรงงานนอกระบบจะต้องผลักดัน เช่น ให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายให้รัฐบาลร่วมจ่ายกองทุน เพื่อให้ เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอนุมัติใช้งบกลาง เป็น เงินร่วมจ่ายเป็นรายปี ที่อาจมีความไม่ต่อเนื่องในเชิงนโยบาย จึง จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับให้มีการจัดสรรงบประมาณประจำปี" นายสมคิด กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีแรงงานนอกระบบจำนวนมากที่ยังไม่เข้าเป็นผู้ประกันตน เนื่องจากเห็นว่า สิทธิประโยชน์ยังไม่จูงใจ ช่องทาง การจ่ายเงินไม่สะดวกเท่าที่ควร ที่เดิมให้จ่ายกับธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา หลังได้มีการเพิ่มช่องทางจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส แต่ต้องเสีย ค่าธรรมเนียมครั้งละ 10 บาท ซึ่งน่าจะมีช่องทางที่ไม่เป็น การเพิ่มภาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานนอกระบบที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้นต้องเสียค่าเดินทาง ซึ่งบางครั้งมากกว่าเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุน จึงไม่คุ้ม ขณะเดียวกันก็ยังมีเงื่อนไขข้อกฎหมายที่องค์กรปกครองท้องถิ่นไม่สามารถทำหน้าที่เก็บเงินสมทบให้กับประกันสังคมได้
นายสมคิด กล่าวอีกว่า ปัญหาการลืมส่งเงินสมทบ การไม่รู้ข้อมูล อย่างท่องแท้ กลายเป็นสิ่งกีดกันให้ไม่เข้าถึงสิทธิ์ จึงเป็นเรื่อง ที่ทางประกันสังคมจะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มแรงงานนอกระบบ ทั้งนี้ มีกรณีร้องเรียนจากผู้ประกันตนว่าได้จ่ายเงินสมทบ ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยจ่ายเป็นเงินก้อน มีเจตนาจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งการจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าต้องจ่ายให้กับทางเจ้าหน้าที่ประกันสังคม และผ่านทางธนาคาร แต่เงื่อนไขของการให้บริการของเคาน์เตอร์ เซอร์วิส ไม่สามารถรับเงินจ่ายสมทบล่วงหน้าได้ เงินจำนวนที่เกิน จึงเป็นเงินออม ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ประกันตน เข้าใจว่าได้มีการจ่าย ล่วงหน้าแล้ว เมื่อเกิดเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิ์บัตรทอง สุขภาพทั่วหน้าหลายวัน แต่เมื่อต้องการให้สิทธิ์รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กลับปรากฏว่าไม่เข้าเงื่อนไขสิทธิประโยชน์
ที่มา: นสพ.แนวหน้า 27 ส.ค.55
- 19 views