TCELS จับมือ รามาธิบดี กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยนอร์ธ คาโลไรนา สหรัฐอเมริกา ผ่าทางตันคัดเลือกบัญชียาหลักแห่งชาติให้สอดคล้องกับพันธุกรรมของประชากรไทย ลดปัญหาใช้ยาไม่ตรงยีน เสียเงิน เสียเวลา แต่รักษาไม่หาย และอาจมีอันตรายถึงชีวิต

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ร่วมกับ 4 สถาบันได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบัน UNC Institute for Pharmacogenomics and Individualized Therapy ของมหาวิทยาลัย North Carolina ประเทศสหรัฐอเมริกา เสนอแนวทางการคัดเลือกสู่บัญชียาหลักแห่งชาติสอดคล้องกับพันธุกรรมของประชากรไทย

นายกำจร พลางกูร รักษาการผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า เกณฑ์การคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติในปัจจุบันจะต้องเป็นยาที่มีประสิทธิภาพจริง สนับสนุนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงจากการใช้อย่างชัดเจน มีความคุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และ ความสามารถในการจ่ายของสังคม โดยมีการจัดกลไกกลางกำกับสำหรับผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงยาได้อย่างเท่าเทียมและไม่ถูกปฏิเสธยาที่สมควรได้รับ

นายกำจร กล่าวว่า แต่จุดอ่อนของประเทศไทยกับอีกหลายประเทศที่ไม่ได้มีกระบวนการพัฒนายาเองอยู่ที่การอิงอยู่กับมาตรฐานการอนุมัติยาขององค์การอาหารและยาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งมีกระบวนการพัฒนายาขึ้นมาจำหน่ายโดยอาศัยผลการศึกษาทางคลินิกจากกลุ่มประชากรผิวขาวเป็นหลัก เนื่องจากเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่ใช้ยา และเป็นตลาดหลักของยาใหม่ซึ่งมีกำลังซื้อสูง ทำให้ยาใหม่ที่ใช้ได้ดีมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อย จะเหมาะสำหรับการใช้กับประชากรผิวขาวและบ่อยครั้งพบว่าชนิดและขนาดของยาหลายประเภทไม่เหมาะที่จะใช้กับประชากรไทย ในการศึกษาจีโนมของ 190 คนไทยจากทุกภาคของประเทศ เพื่อใช้เป็นกลุ่มตัวแทนประชากรในการประเมินลักษณะทางพันธุกรรมกลุ่มยีนที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปยาในร่างกาย จะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการใช้ยาในแต่ละบุคคล

 “จากการศึกษาจีโนมของประชากรไทยกว่า 3,000 คน ภายใต้โครงการเภสัชพันธุศาสตร์ของ TCELS โดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิยาลัยมหิดล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสถานบันวิจัยจีโนม Riken ประเทศญี่ปุ่น พบว่าพันธุกรรมในจีโนมคนไทยมีความแตกต่างจากประชากรที่อาศัยในทวีปอเมริกา ยุโรป แอฟริกา รวมถึงประชากรในชาติเอเชียด้วยกัน อาทิเช่น จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงจากการใช้ยาในแต่ละเชื้อชาติที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดโอกาสในการนำข้อมูลประชากรพันธุศาสตร์ที่แตกต่างกันมาใช้เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกระบวนการคัดเลือกยาในบัญชียาหลักของประเทศในอนาคตอันใกล้” นายกำจร กล่าว

ด้าน รศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ ผู้อำนวยการโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ กล่าวว่าเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว การศึกษาครั้งนี้เป็นการต่อยอดของโครงเภสัชพันธุศาสตร์ที่ได้ทำการศึกษาพันธุกรรมกลุ่มยีนแพ้ยามาก่อนหน้านี้ ขณะนี้อยู่ในช่วงของการวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมและนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกันระหว่างประชากรหลายชาติพันธุ์ทั่วโลก จากนั้นจะจัดทำข้อสรุปแถลงผลงานวิจัยพร้อมกันหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้รัฐบาลของแต่ละประเทศพิจารณานำผลการศึกษาที่ได้ไปใช้ร่วมประกอบการคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติบนพื้นฐานของข้อมูลพันธุกรรมของประชากรชาตินั้นๆ

 “ซึ่งหมายถึงในอนาคตอันใกล้นี้แต่ละกลุ่มประชากรจะสามารถจัดกลุ่มยาในบัญชียาหลักที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงและมีผลข้างเคียงน้อยสอดคล้องกับพันธุกรรมของแต่ละชาติพันธุ์ อันเป็นการช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นและยืดอายุให้ยืนยาวออกไปพร้อมกับความสามารถในการลดงบประมาณของแต่ละประเทศที่สูญเสียไปกับการจัดซื้อใช้ยาที่ด้อยประสิทธิภาพ ใช้ไม่ได้ผล หรือก่อเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตอันเนื่องจากพันธุกรรมของชาติพันธุ์ของประชากรทั่วโลกที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน” รศ.ดร.วสันต์ กล่าว