ผมได้อ่านบทความใน www.manager.co.th วันที่ 15 สิงหาคม 2555 เรื่อง แพทย์สุดเซ็งถูกบีบงบ “30บาทรักษาทุกโรค” จำใจจ่ายยา “เบาหวาน-ความดัน” คุณภาพต่ำ! เมื่ออ่านจบแล้วผมเห็นว่ามีหลายเรื่องที่เป็นการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย บางเรื่องก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ บางเรื่องก็ขัดแย้งกันเอง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดพลาดของประชาชน ในฐานะที่เคยเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมา 2 สมัย (8ปี) จึงเห็นว่าควรจะต้องชี้แจงแถลงไขกันพอสมควรดังนี้ครับ (ตัวหนังสือสีแดงในวงเล็บเป็นของผม)
หมอโรงพยาบาลประจำอำเภอชี้ 30 บาทแค่นโยบายประชานิยมอุ้มชนชั้นกลาง ให้เงินน้อยบีบรพ.ลดคุณภาพยา“เบาหวาน-ความดัน” ได้ยาคุณภาพต่ำ พญ.เชิดชู อัด 30 บาทมหันตภัย นักวิชาการสาธารณสุขเผย 30 บาทแนวคิดดีแต่ความเป็นจริงสวนทาง รพ.ศูนย์บางแห่งผ่าตัดหัวใจยังไม่ได้ แฉวิธีจัดสรรงบ สปสช.โบราณ-ไร้มาตรฐาน-ขาดข้อมูล
(พาดหัวได้น่ากลัวมาก)
แม้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จะเป็นนโยบายยอดนิยมด้วยแนวคิดที่ดี สามารถตีโจทย์ในใจประชาชนแตก จนทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถซื้อใจมวลชนได้ตลอดมา แต่หากลงลึกในรายละเอียดภาคปฏิบัติยังพบว่ามีปัญหาอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้ รับการแก้ไข ผูกปมใหม่แทนคลายปมเก่า จากลดความเหลื่อมล้ำจึงกลายเป็นเพิ่มความเหลื่อมล้ำ แถมด้วยการลิดรอนสิทธิ์ เพราะประชาชนเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพได้เท่าเทียมกันตามที่รัฐบาลเคยหาเสียง ไว้แต่อย่างใด
(โครงการนี้แม้ว่าจะเริ่มใหม่ แต่ก็เริ่มมาจากรากฐานเดิมของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ไปสร้างอะไรใหม่นอกจาก สปสช. ดังนั้นกรรมเก่าที่สะสมมามันก็ยังคงอยู่)
นโยบายลดความแออัด รพ.รัฐ ลิดรอนสิทธิ์คนไข้หนัก
แพทย์คลินิกเวชกรรมชุมชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครเผยว่า แม้ว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีแนวคิดที่ดีคือลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า นโยบายหลายอย่างเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำและลิดรอนสิทธิ์ประชาชน เนื่องจากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี
(นี่เป็นคำกล่าวหาลอย ๆ ไม่รู้ว่าเป็นนโยบายอะไรบ้าง อาจจะเป็นนโยบายขึ้นค่าตอบแทนให้แพทย์หรือนโยบายใช้บัตรประชาชนแทนบัตรทอง )
โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งโรงเรียนแพทย์ 14 แห่งกระจุกตัวอยู่ในเขตใจกลางเมือง หรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเดิมกรุงเทพมหานครยังมีขนาดเล็ก แต่เมื่อเมืองมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงเรียนแพทย์มีเท่าเดิม ประชาชนจึงต้องเดินทางไปโรงพยาบาลไกลขึ้น กอปรกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยหลายคนไม่ต้องการเดินทางไปรักษาไกล จึงทำให้เกิดปัญหาคนเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข
(ผมว่าปัญหานี้มีมาก่อนที่จะมีโครงการนี้นะครับ มาทำเนียนแบบนี้ไม่ถูกหรอกครับ)
ขณะเดียวกันโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไม่ได้สังกัดกระทรวงเดียวกันทั้งหมด ทำให้นโยบายไม่เป็นไปในทางเดียวกัน จนเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้รับบริการในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
(เรื่องนี้ก็มีมาก่อนโครงการนี้ครับ คุณอยากให้โรงพยาบาลพระมงกุฎมาสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเหรอครับ ลองไปถาม ผบ.ทบ.ดูสิครับว่าจะยอมไหม อย่าลืมว่ามีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงอื่นในจังหวัดอื่นนอกเหนือจากกรุงเทพก็มีนะครับ)
ปัญหาหนึ่งซึ่งเพิ่งส่งผลกระทบต่อคนไข้ของโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลพระมงกุฎ คือ
นโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาลภาครัฐ ซึ่งโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งเพิ่งประกาศให้คนไข้ในระบบ30 บาท ทั้งคนไข้ใหม่และคนไข้เก่า ออกไปเริ่มต้นรับการรักษาในคลินิกเวชกรรมภายใต้สังกัดตนเอง ตั้งแต่วันที่1 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความระส่ำระสายให้กับคนไข้เก่าซึ่งป่วยเป็นโรคเรื้อรังจำนวนมาก เพราะต้องไปเริ่มต้นการรักษากันใหม่ทั้งหมด
นโยบายนี้แม้เป็นไปตามแนวคิดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ให้ส่งต่อคนไข้จากสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ สู่ระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิตามลำดับ เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลศูนย์แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ภาพของการเลือกปฏิบัติ โดยเอาคนไข้ในระบบ 30 บาทออกทั้งหมด แบบไม่คำนึงว่าควรเลือกเอาใครออกบ้าง
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือคนไข้ที่ป่วยหนัก หรือเป็นโรคเรื้อรังหลายโรค จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นประจำ เมื่อต้องเข้าสู่ระบบการรักษาแบบส่งต่อ จึงอาจได้รับการรักษาที่ล่าช้าเกินไป
(โดยหลักการแล้วนโยบายนี้ถูกต้องใช่ไหมครับ สปสช.ก็มีหน้าที่ดูแลคนของ สปสช.จะให้ทะลึ่งไปจัดการคนสิทธิอื่นคุณว่าสำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลางเขาจะยอมหรือครับ พวกผมกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพก็ต่อสู้เรื่องนี้มาตลอดครับ ไม่เคยได้ยินบ้างเหรอครับเรื่องระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวน่ะครับ ส่วนการที่มาอ้างว่าคนไข้ระส่ำระสายคงเป็นเพราะเขาต้องเปลี่ยนที่ไปรับบริการมากกว่ากระมังครับ ไม่ได้เริ่มต้นรักษาใหม่หรอกครับ เพราะประวัติการรักษาพยาบาลของคนไข้ที่โรงพยาบาลเขามีบันทึกอยู่นี่ครับ เขาเรียกว่าเวชระเบียนใช่ไหม เดี๋ยวนี้เขาทันสมัยครับใช้ระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ได้ครับ ไม่ทราบว่าแพทย์ผู้ให้สัมภาษณ์ไปหลงมิติอยู่ที่ไหนมาครับ แล้วเขาย้ายคนไข้ในออกไปด้วยหรือเปล่าล่ะครับ อีกเรื่องนะครับเขาพึ่งทำมาได้15 วันเท่านั้นเอง แต่ท่านนายแพทย์คลินิกเวชกรรมชุมชนก็ออกมาวิจารณ์แล้ว มันไม่เร็วไปหน่อยเหรอครับ กว่าระบบจะลงตัวก็คง 6 เดือนปีนึงละมั๊งครับ )
ขณะที่คนไข้ต้องทำตามนโยบายที่โรงพยาบาลศูนย์ประกาศมา โดยไม่มีอำนาจการต่อรอง และไม่รู้ตัวกระทั่งว่าตนกำลังถูกลิดรอนสิทธิ์ แทนที่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้ กลับกลายเป็นโครงการที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำในทางปฏิบัติ
(ถ้าจะกลับคำพูดมาบอกว่าเป็นนโยบายของโรงพยาบาลศูนย์อีกผมก็ไม่รู้จะว่ายังไงครับ เพราะโรงพยาบาลศูนย์ไม่ได้ขึ้นกับ สปสช.นี่ครับ คงต้องมาบอกให้ชัดนะครับว่าเป็นนโยบายของใครกันแน่)
‘4 โรคร้าย’ สปสช.ให้งบไม่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม แง่ดีของสิทธิการรักษาพยาบาลในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อเทียบกับสิทธิการรักษาประเภทอื่นๆ ขณะนี้มีโรคหัวใจ โรคไต ขาเทียม และโรคเอดส์ ที่มีเครือข่ายในการรักษา และส่งต่อ ถือว่าเป็นการรักษาที่มีระบบดี
(สี่โรคร้ายคือโรคที่ว่ามานี่ใช่ไหมครับ ตกลงว่าขาเทียมเป็นโรคร้ายด้วยนะครับ ผมก็ว่าตามนั้นนะครับ)
โครงการเหล่านี้จะได้งบประมาณมากกว่าการรักษาโรคอื่นๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นโครงการเหล่านี้มักจะไม่อยู่ยั่งยืน สุดท้ายพอ 2-3 ปีก็อาจตัดงบลงเหมือนเดิม อย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนเลนส์แก้วตา ซึ่งให้งบเพิ่มเพียง 2-3 ปีเท่านั้น
(อันนี้ออกลูกมั่วแล้วครับ โครงการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเป็นโครงการพิเศษเฉลิมพระเกียรติครับ หลังจากหมดโครงการพิเศษก็เป็นสิทธิประโยชน์ตามปกติครับ แต่ไตและเอดส์เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ครับทำมา 6 -7 ปีแล้วครับ มีแต่เพิ่มงบทุกปีครับ รบกวนไปแหกตาดูเอานะครับ)
แนวทางในการเลือกให้งบประมาณเพิ่มของ สปสช. มาจากการที่ประชาชนร้องเรียนโรคไหนมาก มีเคสเยอะ ทาง สปสช.ก็จะให้งบประมาณในการจูงใจแก่หน่วยงานที่รักษา
(อันนี้ก็ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันเลยครับ แต่อย่างเรื่องโรคไต โรคเอดส์ที่เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ขึ้นมาก็เพราะตอนที่โฆษณาว่า 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ตอนนั้นยังไม่ครอบคลุมเรื่องนี้นะครับ เอ๊ะ แต่ว่าถ้าเรื่องไหนมีเคสเยอะ สปสช.ก็ให้งบประมาณจูงใจนี่ทำไม่ถูกหรือครับ )
หากระบบโดยรวมของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคยังเป็นเช่นนี้ต่อไป และไม่มีการทำความเข้าใจกับประชาชน ในอนาคตแพทย์จะมีคุณภาพในการรักษาที่ต่ำลง และออกจากระบบมากยิ่งขึ้น!
(ที่พูดมาทั้งหมดนี่เรียกว่าระบบโดยรวมเหรอครับ ผมว่านึกอะไรได้ก็พูดมากกว่ามั๊งครับ ถ้าพูดระบบโดยรวม น่าจะพูดเรื่องระบบส่งเสริมป้องกัน ระบบรักษา ระบบฟื้นฟู อะไรแบบนั้นมั๊งครับ แพทย์ที่ออกจากระบบนี่เพราะไปอยู่กับเอกชนแล้วได้เงินมากกว่าครับ )
นโยบาย 30 บาทงบน้อย บีบรพ.ใช้ยาคุณภาพต่ำ
ด้านแพทย์โรงพยาบาลประจำอำเภอกล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่จับกลุ่มคนชั้นกลางที่เป็นฐานคะแนน เสียงส่วนใหญ่ของประเทศ มากกว่าการคำนึงถึงการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย
(ไม่ทราบว่าจากอำเภอไหนล่ะครับ กลับไปอ่านเจตนารมณ์ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพหน่อยนะครับ เขาบอกว่าเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขครับ ไม่ใช่ระบบที่ช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยครับ เรื่องนี้ไม่ได้มาจากนโยบายประชานิยมอย่างเดียวนะครับ คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ท่านผลักดันเรื่องนี้มาเป็นสิบ ๆ ปีครับ ภาคประชาชนที่เห็นดีเห็นงามร่วมผลักดันเรื่องนี้กับท่านก็มีไม่น้อยครับ ถึงขนาดรวบรวมห้าหมื่นรายชื่อไปเสนอกฎหมายได้เลยนะครับ อ้อ ฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยสมัยนั้นหรือพรรคเพื่อไทยสมัยนี้เป็นชนชั้นล่างนะครับ ไม่ใช่ชนชั้นกลาง อยากรู้จังว่าคุณหมอคนนี้มาจากอำเภอไหน หรือไปหลงมิติที่ไหนมาทำไมข้อมูลข่าวสารผิดพลาดคลาดเคลื่อนขนาดนี้ )
ในอดีตที่ผ่านมา การรักษาผู้มีรายได้น้อยหรือมีฐานะยากจนจะอยู่ในรูปแบบของการสงเคราะห์ที่ ไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว อีกทั้งผู้มีรายได้น้อยมากส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อยู่ดี เนื่องจากต้องคำนึงถึงค่าเดินทางไปรับการรักษา ขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลางไม่ถึงขั้นยากจน เดิมก็มีบัตรสุขภาพ ที่ประชาชนต้องจ่ายในราคา500 บาท ซึ่งจะลดปริมาณการเข้ารับการรักษาแบบไม่จำเป็นลง
(ในอดีตมีผู้ล้มละลายจากการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมากด้วยครับ เพราะรูปแบบการสงเคราะห์รักษาได้เฉพาะบางโรคเท่านั้น ถ้าคนจนเป็นโรคมะเร็ง ไตวายเรื้อรัง เอดส์ แล้วไม่มีเงินรักษา ไม่สามารถขายที่ขายบ้านมารักษาก็ตายสถานเดียวครับ การสงเคราะห์อะไรที่หมอว่ามานั้นช่วยไม่ได้หรอกครับ พอมีระบบหลักประกันสุขภาพคนจนก็เข้าถึงบริการมากขึ้นครับ ยิ่งตอนยกเลิกเก็บ 30 บาทก็ยิ่งมาใช้บริการมากขึ้นอีกครับ มีงานวิจัย มีผลการสำรวจความนิยม (โพลล์)รองรับครับ ไปขอดูที่ สปสช.นะครับ ผมขี้เกียจหาครับ ส่วนเรื่องการเข้ารับการรักษาแบบไม่จำเป็นนี้ ไม่ทราบว่าปี ๆนึงมีปริมาณเท่าไรครับ มีใครสักกี่คนครับที่มีเวลาว่างอยากจะไปนั่งรอที่โรงพยาบาล มันน่าสนุกตรงไหน เห็นคนป่วยเดินกระย่องกระแย่ง ได้ยินเสียงคนร้องเจ็บปวด ได้ยินเสียงคนไอ อากาศก็ร้อนน่าอึดอัด บางทีพยาบาลก็ทำหน้าเหมือนยักษ์เหมือนมาร ขนาดคนป่วยยังไม่อยากจะไปเลยครับ ต่อให้เป็นโรงพยาบาลเอกชนหรู ๆ แพง ๆ บริการอย่างดี แม้จะให้บริการฟรีก็ไม่มีใครอยากไปหรอกครับ)
ปัจจุบันผู้ใช้สิทธิ์ 30 บาทจริงๆ จะเป็นผู้ที่มีเวลามานั่งรอ ซึ่งใช้เวลาเกิน 3 ชั่วโมง แต่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย หรือเป็นคนจนแฝง! จนเกิดกรณีการใช้ยาและทรัพยากรทางการแพทย์ที่เกินความจำเป็น อาทิ กรณีขอยาเผื่อไว้ก่อน และบางรายขอยาไม่ตรงกับโรคที่เป็นอยู่
( อันนี้ก็ต้องหางานวิจัยมายืนยันนะครับว่าต้องเป็นผู้มีเวลามานั่งรอ เป็นคนจนแฝง ว่ากันตรง ๆนะครับ ในชนบทคนไม่ค่อยมีทางเลือก ยังไงก็ต้องไปสถานีอนามัย/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลชุมชนอยู่แล้ว ต้องเป็นอำเภอใหญ่ ๆ เท่านั้นถึงจะมีคลินิกเอกชน เวลาไปหาหมอทีก็หมดเวลาไปเป็นวันแหละครับไม่ว่าคนจนหรือคนชั้นกลางที่คุณหมอผู้ให้สัมภาษณ์เรียกว่าเป็นคนจนแฝง แต่ถ้าเป็นคนจนในเมืองก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยครับถ้าเป็นคนรับจ้างรายวัน เขาอาจจะยอมเสียเงินไปคลีนิคเอกชนเพราะจะได้เอาเวลาไปรับจ้างหาเงิน แต่ถ้าไม่มีเงินจริง ๆ ก็ต้องไปโรงพยาบาลตามสิทธิของเขานั่นแหละครับ ยังมีอีกพวกที่ไม่ได้ใช้สิทธิคือพวกที่มาทำงานต่างจังหวัด แล้วไม่ได้ย้ายสิทธิมาด้วย คนพวกนี้ก็ไม่กล้าไปใช้สิทธิเท่าไรหรอกครับ ส่วนเรื่องการรอนานเดี๋ยวผมไปคุยต่อในเรื่องการกระจุกตัวของหมอและเรื่องการสร้างความเชื่อถือในโรงพยาบาลอีกทีนะครับ ส่วนกรณีขอยาเผื่อหรือขอยาไม่ตรงกับโรคน่ะหมอจะไปจ่ายยาให้ทำไมล่ะครับ เขาถือปืนมาจี้หัวหมอให้จ่ายยาให้เขาเหรอครับ พวกที่ขอยาเผื่อหรือขอยาไม่ตรงกับโรคน่ะส่วนใหญ่เป็นพวกสิทธิราชการครับ ซึ่งเดี๋ยวนี้กรมบัญชีกลางเขาก็เข้มงวดมากขึ้นแล้วนะครับ ขอพูดอีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกันนะครับ สมัยก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพนี่ทำไมหมอจ่ายยาทีละมาก ๆ ล่ะครับ บางทีหายไข้แล้วยายังเหลืออีกเป็นหอบ เป็นเพราะหมอไม่มีประสบการณ์ในการรักษาเหรอครับ หรือว่าเพราะว่าหมอได้ค่าคอมมิชชั่นและได้ผลประโยชน์อื่นจากบริษัทยากันแน่ครับ )
การรักษาด้วยระบบนี้ทำให้แพทย์ที่มีอยู่จำนวนเท่าเดิมต้องรับผู้ป่วย มากขึ้น จึงเห็นได้ว่าผู้ป่วยจะได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพียงไม่กี่นาที การจะมีคุณภาพจึงเป็นเรื่องยาก อาจตรวจพลาด รวมถึงการจะให้ข้อมูลครบถ้วนก็เป็นเรื่องยากมาก และการจ่ายยาของโรงพยาบาลรัฐย่อมมีคุณภาพต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ผู้ป่วยจ่ายค่ารักษาตามปกติ
(เรื่องแพทย์ไม่พอนี่มีมาก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพใช่ไหมครับ แพทย์ส่วนใหญ่พอใช้ทุนหมดก็หนีไปเรียนเฉพาะทางเพราะได้เงินมากกว่า ก้าวหน้าเร็วกว่า ถ้าไม่งั้นก็หาทางมาอยู่ในเมืองหรือชานเมืองที่ไม่ทุรกันดาร ปัญหาของชนบทคือขาดแคลนแพทย์เพราะแพทย์หนีมากระจุกตัวอยู่ในเมือง ส่วนปัญหาในเมืองก็เป็นเพราะคนไม่เชื่อมั่นในมาตรฐานการรักษาพยาบาลของชนบท เลยเข้ามารักษาในเมืองคือในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ หรือเข้ามารักษาในกรุงเทพกับโรงพยาบาลศูนย์ชื่อดังๆ เช่น ศิริราช รามา จุฬา ฯลฯ ส่วนปัญหาในกรุงเทพก็คือกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูและกองแพทย์และกองอนามัยในกรุงเทพบริหารจัดการไม่ดีเอง ยิ่งผู้บริหาร กทม.อยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาลแล้วก็แทบจะไม่ให้ความร่วมมืออะไรเลย และยังมีอีกไม่น้อยที่หนีไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนเพราะได้เงินค่าตอบแทนมากกว่า ซึ่งต้องยืนยันอีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่มีปัญหามาก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนเรื่องคุณภาพในการรักษาพยาบาลนั้นขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารด้วยเหมือนกันนะครับ ลองไปดูระบบที่โรงพยาบาลหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์บ้างก็ได้นะครับ เขาลดความแออัดได้ แถมชาวบ้านก็พอใจอีกต่างหาก )
“ยาในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีคุณภาพในระดับหนึ่ง พอใช้ได้เท่านั้น อาจมีผลข้างเคียงมาจากยาเนื่องจากต้นทุนในการจัดการไม่เพียงพอ โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง อย่างเช่น โรคเบาหวาน ความดัน ยาจะต่างจากการรักษาในระบบปกติ”
(สมัยที่ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้ยาดีกว่านี้หรือครับ หรือว่าได้ยาตัวเดียวกัน ผมว่าได้ยาตัวเดียวกันนะ ยาในระบบหลักประกันสุขภาพคือยาในบัญชียาหลักแห่งชาติครับ เป็นยาที่ได้รับการรับรองว่าใช้รักษาได้ผลและยาแต่ละโรคก็มีหลายชนิด แพทย์ก็สามารถเลือกได้นี่ครับว่าจะจ่ายยาอะไรให้ผู้ป่วย แต่ยานอกบัญชียาหลักเป็นยาที่ยังไม่ได้รับการรับรองอะไรเลย แถมมีราคาสูงมากซึ่ง สปสช.ก็ไม่ได้ห้ามจ่ายนะครับ เพียงแต่ว่าต้องให้แพทย์ระบุเหตุผลความจำเป็นว่าทำไมต้องจ่าย ถ้ามีเหตุผล สปสช.ก็ให้เงินครับ แต่ในความเป็นจริงแพทย์ไม่อยากอธิบายเหตุผลแต่ชอบที่จะไปโน้มน้าวให้ผู้ป่วยจ่ายเงินเองมากกว่า ซึ่งก็ต้องกลับไปดูเรื่องเดิมครับคือแพทย์จะได้ผลประโยชน์จากบริษัทยา ส่วนเรื่องต้นทุนในการจัดการไม่เพียงพอนั้นไม่ใช่หรอกครับ เป็นข้ออ้างที่จะทำลายความเชื่อมั่นของชาวบ้านที่มารับบริการมากกว่า เพราะโรคเรื้องรังเหล่านี้ สปสช.เขามีระบบการบริหารจัดการรายโรค มีนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขมาทำการศึกษาวิจัย มีการคิดคำนวณอย่างดี เดี๋ยวไปว่าอีกทีนะเรื่องการจัดงบนะครับ)
อย่างไรก็ดี การรักษาโรคเบาหวานและความดันในระบบบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีมาตรการลดความแออัดของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป โดยให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) หรือสถานีอนามัยเดิมแทน
“กระทรวงสาธารณสุขให้เหตุผลว่าโรคเบาหวาน ความดัน เป็นโรคเรื้อรัง ไม่ใช่โรคที่ต้องการรักษาเร่งด่วน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ รพ.สต และ อสม.สามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและความดันได้อยู่แล้ว ซึ่งคนไข้ก็รับยาได้ที่นี่”
(ถ้าคิดว่าไม่ดีก็ไปด่ากระทรวงสาธารณสุขสิครับ จะมาด่า สปสช.ได้ยังไง รพ.สต.นี่นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์สมัยคุณจุรินทร์ เป็น รมว.สธ.ครับ อย่ามาเนียนครับ)
มหันตภัย 30 บาท
สอดคล้องกับ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ได้แสดงความเห็นถึงการที่นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้เพิ่มสิทธิให้ประชาชนเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ปีละ 4 ครั้ง จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ในเวทีทัศน์ของเว็บไซต์อิศรานิวส์ ในหัวข้อ มหันตภัย “30 บาทรักษาทุกโรค”
หนึ่งในบทความดังกล่าวระบุว่า ประชาชนจะรู้ไหมว่า ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคนี้ กำลังก่อให้เกิดมหันตภัยอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชน และมาตรฐานการแพทย์ไทย ดังนี้
1.โรงพยาบาลไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานได้ ทั้งนี้เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินใส่เข้าไปเท่าไรก็ยังไม่ทำให้ประชาชนได้รับ การรักษาตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดีที่สุด เนื่องจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ “จำกัดรายการยา” ให้แพทย์ไม่สามารถสั่ง “จ่ายยา” ได้ตามดุลพินิจทางวิชาการแพทย์เฉพาะทาง(ไม่ต้องเปรียบเทียบกับ รพ.ชุมชน หรือ รพ.ตำบลที่ส่วนใหญ่แล้วต้องการใช้แค่ยาสามัญประจำบ้านขององค์การเภสัชกรรม เพราะใช้รักษาโรคง่ายๆ (ที่ประชาชนก็อาจจะรักษาตัวเองได้ เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ท้องผูก ท้องเดิน ฯลฯ)
(ต่างจากสมัยที่ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพมากขนาดไหนครับ เมื่อสิบปีที่แล้วมีสักกี่คนครับที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานแพทย์ที่ดีที่สุดได้เฉพาะคนรวยกับพวกสิทธิราชการใช่ไหมครับ คนจนที่ใช้บัตร สปร.ก็ได้รับการรักษาตามมีตามเกิดใช่ไหมครับ จำนวนคนเข้าถึงบริการเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็น้อยกว่าปัจจุบันใช่ไหมครับ คนที่ล้มละลายเพราะการรักษาพยาบาลก็มีมากใช่ไหมครับ ลองไปหาวิทยานิพนธ์ของพวกนักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของมหาวิทยาลัยมหิดลมาอ่านบ้างนะครับ เมื่อสิบปีที่แล้วจะมีสักกี่คนครับที่ได้พบแพทย์เฉพาะทาง ผมว่าเดี๋ยวนี้ดีกว่านะครับ)
การจำกัดรายการยาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงถือเป็นการ “ละเมิดสิทธิผู้ป่วย” และเป็นการ “ละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการแพทย์” ซึ่งจะส่งผลกระทบแก่คุณภาพการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยไม่ทุเลาจากอาการป่วย กลายเป็นโรคเรื้อรัง และอาจตายทั้งที่ยังไม่สมควรตาย
(หมอพูดเหมือนกับว่ายารักษาความดันมีสักหมื่นชนิด แต่ สปสช.จำกัดให้ใช้แค่ชนิดเดียวเท่านั้นซึ่งมันไม่จริง ต้องเอาความจริงมาพูดกัน อย่าเอาเรื่องการละเมิดสิทธิผู้ป่วย ละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการแพทย์มาอ้างกันเลยครับ แต่ควรจะมาพูดเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์กันดีกว่า หมอทั้งหลายต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยว่าไม่ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมหรือทางอื่นๆ จากบริษัทยา และถ้าหมอรักษาคนไข้แล้วเห็นว่าคนไข้รายนี้ไม่ควรใช้ยาตามที่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(คป.สช.)กำหนด หมอก็บอกคนไข้ไปเลย แล้วยุให้คนไข้ไปฟ้อง สปสช.เลยแล้วหมอก็ไปเป็นพยานให้ด้วยนะครับ ก็อย่างที่บอกไปนั่นแหละครับว่าเขาไม่ได้จำกัด ถ้าหมอเป็นว่าจำเป็นต้องใช้ หมอก็ต้องอธิบายว่าจำเป็นอย่างไร แต่หมอไม่ยอมอธิบายเอง แล้วมากล่าวหากันมันก็ไม่ถูก ทีคณะกรรมการแพทย์กองทุนเงินทดแทน ก่อนจะยอมรับว่าคนงานเจ็บป่วยจากการทำงานหรือไม่ เขายังเรียกเอาเวชระเบียนของผู้ป่วยไปดูก่อนเลย และมีหลายกรณีมากที่ดูแล้วเห็นแย้งกับผลการวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษา บอกว่าคนงานไม่ได้เจ็บป่วยจากการทำงาน มันละเมิดสิทธิของทั้งผู้ป่วยและแพทย์มากกว่าที่หมอมากล่าวหา คปสช.อีกนะครับ ทำไมไม่เห็นหมอไปโวยวายอะไรกับคณะกรรมการแพทย์ของกองทุนเงินทดแทนเลยล่ะครับ)
2. ประชาชนอาจไม่ได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษา นอกจากคณะกรรมการหลักประกันฯ จะ “จำกัดรายการยา” ไว้เป็นบางชนิดแล้ว ต่อไปประชาชนอาจจะไม่ได้รับยาที่เหมาะสมกับการเจ็บป่วยของตน เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเงินซื้อยาไว้รักษาผู้ป่วย เนื่องจาก สปสช.จ่ายเงินให้ รพ.ล่าช้า และจ่ายเงินไม่ครบตามต้นทุนที่โรงพยาบาลใช้ในการรักษาผู้ป่วย ไม่คุ้มต้นทุนในการรักษาผู้ป่วย ทั้งๆ ที่งบประมาณแผ่นดินที่จ่ายไปเป็น“กองทุนหลักประกันสุขภาพ” ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน เพิ่มจาก 27,612 ล้านบาท มาเป็น 107,814ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2555 เพิ่มมากขึ้น 3 เท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 288.35
(โรงพยาบาลไม่มีเงินเพราะ สปสช.จ่ายเงินช้าหรือว่าเพราะโรงพยาบาลเคลียร์ค่าใช้จ่ายช้า หรือเพราะโรงพยาบาลเคลียร์ค่าใช้จ่ายผิด ผมได้รับคำปรารภมาจากพวกเจ้าหน้าที่หลายคนว่า โรงพยาบาลส่งคนไปอบรมกับ สปสช.คนนึง แต่คนที่ทำงานส่ง สปสช.เป็นอีกคนนึง มันก็ทำช้าทำผิดสิครับ จะมาโทษ สปสช.ได้ยังไง อ้อ สปสช.ได้รางวัลเรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้วยนะ ได้หลายปีครับเรียกว่าได้จนเบื่อแล้วก็ว่าได้ ไปลองหาดูในเวบไซด์ของ สปสช.นะครับ ส่วนเรื่องจ่ายเงินไม่ครบตามต้นทุนน่ะ เป็นเพราะว่าโรงพยาบาลคิดต้นทุนสูงเกินจริงหรือเปล่าครับ ก็ไม่ต่างจากประกันภัยบุคคลที่สามหรอกครับ นั่นบริษัทประกันภัยเขาก็จ้างคนมาคิดราคาเหมือนกันแล้วเขาพบว่าหลายโรงพยาบาลคิดต้นทุนสูงเกินจริงเพื่อจะมาหลอกเอาเงินจากบริษัทประกัน เขาก็ไม่ยอมเสียเงินฟรี ๆ เหมือนกันครับ สปสช.เขาก็มีการตรวจสอบก็พบว่ามีโรงพยาบาลบางแห่งครับที่มีการทุจริตคิดต้นทุนเกินจริง แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากครับไม่ต้องเอามาพูดก็ได้ครับ สปสช.ทำมาจะ ๑๐ ปีแล้วครับ ไม่เห็นมีโรงพยาบาลไหนล้มละลายเลยครับ)
ทั้งๆ ที่งบประมาณแผ่นดินต้องให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพอย่างมากมายมหาศาลเช่น นี้ แต่หน่วยบริการประชาชนคือโรงพยาบาลและสถานบริการต่างๆ กลับได้รับเงินงบประมาณไม่พอที่จะทำงานได้ มีภาระหนี้สินเป็นจำนวนมากหลายร้อยโรงพยาบาล ต่อไปโรงพยาบาลอาจไม่มียาที่เหมาะสมในการจ่ายให้ผู้ป่วยอีกแล้วหรืออาจจะต้องจ่ายเฉพาะยาพาราฯ หรืออาจไปเอายาเก่า (ที่แลกกับไข่กลับคืนมาจากประชาชน) มาจ่ายให้ผู้ป่วยแทน?
(อันนี้เป็นการคาดเดาเอาเองโดยใม่มีหลักฐานทางวิชาการใด ๆมารองรับเลยครับ หมอควรจะต้องบอกด้วยว่างบประมาณที่มากมายมหาศาลนั้นเป็นเงินเดือนแพทย์และบุคคลากรซะเท่าไร กี่เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด หมอลองดูรถไฟ ขสมก. สิครับขาดทุนมาไม่รู้กี่ปี ก็ยังจัดบริการได้ตลอด แถมยังมีบริการฟรีด้วยนะครับ อย่ามาสร้างความสับสนให้กับชาวบ้านดีกว่าครับ ไม่มีรัฐบาลไหนปล่อยให้โรงพยาบาลล้มละลายหรอกครับ พูดตรง ๆนะครับถ้าระบบหลักประกันสุขภาพไม่ดีจริง สมัยรัฐบาลขิงแก่ รัฐบาลประชาธิปัตย์ คงยกเลิกระบบนี้ไปแล้วละครับ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นใช่ไหมครับ อ.มงคล เป็น รมว.สธ. นอกจากเพิ่มงบแล้วยังยกเลิกเก็บ 30 บาทอีกด้วยพอ คุณวิทยา คุณจุรินทร์มาเป็นรัฐมนตรี ก็มายกเลิกการใช้บัตรทองให้ใช้บัตรประชาชน มีการพยายามผลักดันให้ใช้บริการได้ทั่วประเทศ โดยเริ่มทดลองให้ใช้บริการที่ไหนก็ได้ในบางจังหวัดก่อน ฯลฯ หลายนโยบายจนจำไม่ไหวครับ สิ่งเหล่านี้คือการยืนยันว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องดีจริงครับ)
3. ประชาชนเสี่ยงอันตรายจากความผิดพลาดของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น เนื่องจากประชาชนไปโรงพยาบาลปีละ 200 ล้านครั้ง แต่แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยมีไม่ถึง 10,000 คน ที่เหลือก็ไปทำงานบริหาร งานนโยบายกันหมด แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยใน รพ.สธ.ต้องทำงานสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง โดยเฉพาะศัลยแพทย์ต้องอดนอนยืนผ่าตัดตลอดคืน รักษาที่ รพ.อื่นที่ห่างกันอีก 100 กม.?
(ก็กระจายหมอออกมาชนบทให้มากขึ้นสิครับ เหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะหมอมากระจุกอยู่ในเมือง สมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์เป็น รมว.สธ.ก็เคยปรารภใน คป.สช.ว่าไม่สามารถไปบังคับให้หมอกระจายออกไปอยู่ต่างจังหวัดได้ เพราะถ้าบังคับเขาก็ลาออกไปอยู่เอกชน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แสดงว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาของหมอเองครับ ไม่ใช่ปัญหาที่ สปสช.สร้าง และอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นคือ ปัญหานี้มีมาก่อนมี สปสช.ครับ)
รพ.ศูนย์ยังด้อยศักยภาพ
ขณะที่หน่วยบริการระดับตติยภูมิ จะให้บริการที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูงขึ้นไปอีก และมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง (Excellent Center) ด้านต่างๆ เช่น ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เป็นต้น มีแพทย์เฉพาะทางสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ สถาบันเฉพาะทางต่างๆ หรือสังกัดมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์
“โรงพยาบาลศูนย์หลายแห่งในปัจจุบันไม่ได้มีศักยภาพมากพอตามแนวคิดที่ วางไว้ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ที่อุดรธานีผ่าตัดหัวใจไม่ได้ รักษาโรคมะเร็งได้น้อย ต้องส่งต่อไปรักษาข้ามเขต ทั้งที่โรงพยาบาลศูนย์ต้องมีศักยภาพสูงพอๆ กับโรงเรียนแพทย์ สาเหตุหนึ่งเนื่องจากเดิมโรงพยาบาลศูนย์ถูกยกระดับขึ้นมาจากโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลทั่วไปก็ดิ้นรนอยากเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ทั้งที่บางแห่งไม่ค่อยจำเป็น แต่ระบบสาธารณสุขของเรามักถูกวางไว้ตามนักการเมือง”
(อ้าว ก็ไปด่านักการเมืองสิครับ จะมาด่า สปสช. ด่าระบบหลักประกันสุขภาพทำไมครับ)
วิธีจัดสรรงบ สปสช.สุดห่วย
แหล่งข่าวในวงการแพทย์ ระบุว่าปัญหาที่แท้จริงของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในมุมมองของนักวิชาการสาธารณสุข คือ วิธีการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ และคุณภาพของโรงพยาบาลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้แนวคิดที่ดีไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ และเกิดปัญหาตามมามากมาย
สำหรับการจัดสรรงบประมาณของโครงการ 30 บาทฯ มี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการทำตัวเลขงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวซึ่งเปรียบได้กับการทำก้อนเค้ก และขั้นตอนการแบ่งงบประมาณหรือการแบ่งเค้ก
“การทำตัวเลขค่าใช้จ่ายรายหัวในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำโดยไม่มีการคำนวณตามหลักวิชาการ ไม่มีข้อมูล unit cost ที่แท้จริง เนื่องจากคนทำขาดความรู้ด้านนี้ แต่ได้รับความไว้ใจจากผู้ใหญ่ให้ทำ ดังนั้นวิธีการทำก้อนเค้กของ สปสช. จึงนับเป็นวิธีที่โบราณ ขาดข้อมูล และเป็นวิธีที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของ สปสช.”
นอกจากนั้น สปสช.ยังไม่เคยคำนวณล่วงหน้าว่า ถ้าจัดสรรแบบนี้ บริการใดจะขาดทุนบ้าง บอร์ดที่เข้ามานั่งคุมก็รู้รายละเอียดน้อย รู้ไม่ลึกจริง ทำให้ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงและที่มาของข้อมูลเป็นอย่างไร
“เมื่อวิธีการคำนวณก้อนเค้กเพี้ยนมาแต่ต้น เราจึงไม่รู้ว่าก้อนเค้กมันเหมาะหรือไม่เหมาะ หรือควรจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน ขณะเดียวกันขั้นตอนต่อไปคือวิธีการแบ่งเค้ก ถ้าแบ่งดี ทุกคนจะได้กินพอๆ กัน แต่ถ้าแบ่งไม่ดี บางคนจะอิ่ม แต่บางคนจะอด”
(ผมว่ารวมเลยนะครับ การจัดทำงบประมาณของ สปสช.จัดทำโดยคณะอนุกรรมการด้านการเงินการคลัง ซึ่งมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังเป็นประธาน ซึ่งในสองสมัยที่ผ่านมาคือ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ และดร.อัมมาร์ สยามวาร์ลา ทั้งสองท่านนี้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับแถวหน้าของประเทศนะครับ คงไม่มีใครไปหลอกท่านได้ง่าย ๆ หลอกครับ ส่วนอนุกรรมการก็มาจากผู้ให้บริการเป็นหลัก มีตัวแทนจากกระทรวง จากโรงพยาบาลทุกระดับรวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน (ซึ่งเขาต้องปกป้องผลประโยชน์ของเขาเต็มที่อยู่แล้ว) ถ้าไม่ได้ทำงานตามหลักวิชาการมาเสนอ ไปไม่รอดหรอกครับ ทุกบาททุกสตางค์มีที่มาที่ไปอธิบายได้ทั้งนั้นครับ )
เช่นเดียวกับปัญหาที่ประสบในปัจจุบันคือ โรงพยาบาลใหญ่รวยอู้ฟู่ ขณะที่โรงพยาบาลเล็กยากจน หรืออีกกรณีหนึ่งคือโรงพยาบาลที่บริหารไม่ดีก็จะขึ้นตัวแดงเช่นกัน
(อ้าวไหนว่าโรงพยาบาลขาดทุน มีโรงพยาบาลใหญ่รวยเพราะอะไรครับ ไม่ใช่เพราะ สปสช.ครับ แต่เป็นระบบที่ไม่ได้เรื่องของ สธ.เองต่างหากครับ รวมถึงฝีมือของผู้บริหารด้วยใช่ไหมครับ แหล่งข่าวท่านกล่าวเอง ผมไม่ได้กล่าว)
ข้อมูลงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวของ สปสช. ในปีแรกอยู่ที่ประมาณหัวละ 1,200 บาท ขณะที่ปีนี้อยู่ที่หัวละ 2,700 บาท เท่ากับ 10 ปีที่ผ่านมางบประมาณเพิ่มขึ้น 200-300% แต่จำนวนผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นเพียง 30%ขณะที่ผู้ป่วยในเพิ่มเพียง 20% เท่านั้น
(งบที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าอะไรครับ เป็นเพราะค่าตอบแทนแพทย์ที่สูงขึ้นอย่างมหาศาลหรือเปล่าครับ เป็นเพราะปีแรกรัฐบาลจัดงบประมาณให้ต่ำกว่าที่ควรจะได้หรือเปล่าครับ เป็นเพราะมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆหรือเปล่าครับ แหล่งข่าวต้องการบอกข้อมูลนี้เพื่ออะไรครับ เพื่อจะบอกว่างบประมาณสูงแล้ว แต่โรงพยาบาลบริหารไม่เป็นเองใช่ไหมครับ เพราะเงินเกือบทั้งหมดถูกจ่ายไปให้หน่วยบริการนะครับ)
นั่นหมายถึงคนยังเข้าถึงบริการได้น้อย ทำให้รัฐบาลไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวเพราะเขามองเห็นแล้วว่างบขึ้นตั้งเกือบ 300% ขณะที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึง!
(อ้าว ทีนี้มาบอกว่าคนเข้าถึงบริการได้น้อยอีกแล้ว ตกลงยังไงแน่ครับผู้เขียนบทความ เพราะมีช่วงหนึ่งอ้างว่ามีการรักษาพยาบาลปีละ 200ล้านครั้ง แต่แพทย์ไม่พอ ผมชักงงแล้ว หรือว่าท่านจับแพะชนแกะ)
ผมไม่มีข้อสรุปอะไรนอกเหนือไปกว่านี้และได้แต่หวังว่า ทุกฝ่ายจะหันมาร่วมมือกันสร้างหลักประกันสุขภาพที่ดีให้กับคนทุกคนบนผืนแผ่นดินนี้
- 14 views