การประชุมเอดส์นานาชาติ ครั้งที่ 19 (AIDS 2012) ที่จัดขึ้นใน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 27 ก.ค.55 ที่ผ่านมา โดยมีอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บิลล์ คลินตัน ร่วมในพิธีปิด ซึ่งการประชุมทั้ง 5 วัน มีผู้เข้าร่วมกว่า 22,000 คน จากทุกมุมโลกและหลากหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งกลุ่มพลังมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ เช่น ชายรักชาย หญิงขายบริการทางเพศ แกนนำเยาวชน และผู้ติดเชื้อ การประชุมนี้จัดขึ้นทุก 2 ปี และเคยจัดที่ประเทศไทยเมื่อปี 2547 แต่ถูกห้ามจัดในสหรัฐอเมริกามากว่า 20 ปี เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีกฎหมายห้ามผู้ติดเชื้อเข้าประเทศ จนสุดท้ายมีการยกเลิกกฎหมายไป ทำให้ได้รับมอบหมายในการจัดการประชุม AIDS 2012 ขึ้น แต่ก็ยังถูกโจมตีว่า ยังมีกฎหมายห้ามผู้ติดยาเสพติดและหญิงขายบริการทางเพศเข้าประเทศ ทำให้ขาดโอกาสในการรับฟังข้อคิดเห็นจาก 2 กลุ่มสำคัญไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเอดส์
ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคเอดส์ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และ ผู้ที่เสียชีวิตจากเอดส์ทั่วโลกดีขึ้นมาก ตั้งแต่เริ่มมีการให้ยาต้านไวรัสเอดส์อย่างกว้างขวางกับผู้ติดเชื้อในประเทศกำลังพัฒนา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา จาก 1 ล้าน เป็น 8 ล้านคน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกฯ และโครงการช่วยเหลือฉุกเฉินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทย 98% ของค่ายาและค่ารักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อในปัจจุบันมาจากงบประมาณของรัฐบาลไทยเอง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกปีละกว่า 2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตปีละเกือบ 2 ล้านคน แสดงให้เห็นว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ตระหนักถึงการป้องกัน และ 8 ใน 10 คน ที่ติดเชื้ออยู่แล้วทั่วโลกในขณะนี้ยังไม่รู้ตัว เพราะไม่เคยไปตรวจ ทำให้เป็นต้นตอในการส่งต่อเชื้อให้กับผู้อื่นต่อไป ดังนั้น การทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้วรู้ตัว จึงเป็นมาตรการสำคัญที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และเข้าสู่ขบวนการรักษาแต่เนิ่นๆ ด้วยยาต้านไวรัสเอดส์
ปัญหาที่ท้าทายในปัจจุบัน คือ "จะทำให้คนที่อาจมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในตัวอยู่แล้วในขณะนี้ มีความตระหนัก ไปตรวจเอดส์โดยสมัครใจแต่เนิ่นๆ ได้อย่างไร"ซึ่งคงไม่มีใครที่อยากไปตรวจเอดส์ขณะที่ยังไม่ป่วย มักเข้าข้างตัวเองว่าไม่เสี่ยงหรือไม่น่าจะติดเชื้อ ทั้งๆ ที่การพลั้งเผลอครั้งเดียว หรือมีสามี ภรรยา คนเดียวก็อาจติดเชื้อได้เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าสามีหรือภรรยาของเราจะติดเชื้อก่อนมาอยู่กับเราหรือไม่ ทั่วโลกจึงคิดหาวิธีต่างๆ ที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปมีความตระหนัก และเข้าถึงการตรวจเอชไอวีมากขึ้น ทั้งในเรื่องของความสะดวก ผลที่แม่นยำรวดเร็ว และเกิดประโยชน์จากการไปตรวจไม่ว่าผลเลือดจะออกมาเป็นบวกหรือเป็นลบ เช่นการชักชวนให้ผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการแผนกต่างๆ ของโรงพยาบาลเข้ารับการตรวจเอดส์ด้วย รวมการตรวจเอดส์เข้ากับการตรวจสุขภาพประจำปี การมีคลินิกเคลื่อนที่ไปตรวจเอดส์ถึงชุมชน การมีชุดตรวจเอดส์ที่สามารถซื้อไปตรวจเองได้ที่บ้าน ซึ่งองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้สามารถวางขายตามร้านสะดวกซื้อได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 เป็นต้นมา รวมทั้งในเดือนกรกฎาคมยังถูกประกาศให้เป็นเดือนแห่งความตระหนักเรื่องเอดส์ ซึ่งสอดคล้องกับที่กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศให้วันที่ 1 กรกฎาคม เป็น "วันตรวจเอชไอวีแห่งชาติ" และสายด่วน "1663" เป็นสายด่วนเอดส์แห่งชาติ สภากาชาดไทยเองก็ได้ผลิตสื่อออนไลน์อย่าง Adam's Love Website (www.adamslove.org) และผลิตสปอตโฆษณา "ตรวจ...เพื่อก้าวต่อ" ซึ่งจะออกสู่สาธารณะเร็วๆ นี้อีกทั้งยังมีคลินิกเคลื่อนที่ออกตรวจตามสถานซาวน่าและบาร์เกย์ในกรุงเทพฯ อีกด้วย
การตรวจเจอเร็วในขณะที่ยังไม่ป่วย แล้วรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์แต่เนิ่นๆ มีความสำคัญมากในการที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาวเหมือนผู้ที่ไม่ติดเชื้อทั่วไป จากหลักฐานที่มีอยู่ ในขณะนี้ คาดการณ์ได้ว่าถ้าปัจจุบันตรวจพบว่าติดเชื้อขณะที่มีอายุ 25 ปี โดยยังไม่มีอาการ คนๆ นั้นจะสามารถมีอายุยืนยาวไปได้ถึงอายุ 75 ปี ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ซึ่งการได้รับยาต้านไวรัสเอดส์จะทำให้เชื้อเอชไอวีในร่างกายลดลงจนถึงระดับที่ตรวจไม่เจอ ผู้ติดเชื้อก็จะไม่เจ็บป่วยจากโรคแทรกซ้อนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี การที่มีเชื้อเอชไอวีมากๆ ในร่างกายไปนานๆ จะทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ทำให้เส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองตีบ ไตและตับวายได้ ดังนั้น การให้ยาต้านไวรัสเอดส์แต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันโรคเหล่านี้ได้ด้วย แต่ต้องยอมรับว่าโรคเหล่านี้เป็นโรคของ ผู้สูงอายุ หากผู้ติดเชื้อมีชีวิตยืนยาวขึ้น โรคของผู้สูงอายุก็จะพบมากขึ้นด้วย
จะเริ่มต้นให้ยาต้านไวรัสเอดส์เมื่อไหร่จึงจะคุ้มค่าที่สุด เป็นประเด็นที่พูดคุยกันมากในที่ประชุม AIDS 2012 แน่นอนที่สุดคือ ควรเริ่มก่อนที่จะมีอาการป่วย องค์การอนามัยโลกเพิ่งปรับระดับ ซีดี 4 ที่ควรเริ่มยาต้านไวรัส จาก 200 เป็น 350 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ตั้งแต่ปี 2553 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาปรับเกณฑ์การเริ่มยาต้านไวรัสเอดส์ จากเดิม ต่ำกว่า 500 เป็นเท่าไหร่ก็ให้เลย ตั้งแต่พฤษภาคมปีนี้ นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกก็กำลังเตรียมที่จะให้ประเทศต่างๆ เริ่มใช้ยาต้านไวรัสเร็วขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยเองเพิ่งจะมีการเริ่มต้นยาต้านไวรัส ที่ซีดี 4 ระดับ 350 เซลล์ อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ต.ค.55 นี้เอง
การให้ยาต้านไวรัสเอดส์ในการป้องกันการถ่ายทอดเอชไอวีจากแม่สู่ลูกนั้น ในกรุงวอชิงตันดี.ซี.ไม่มีเด็กที่ติดเชื้อจากแม่มาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีเด็กในประเทศกำลังพัฒนาที่ติดเชื้อจากแม่ปีละหลายแสนคน สาเหตุเพราะยาต้านไวรัสเอดส์ที่ใช้ป้องกันการถ่ายทอดเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในประเทศกำลังพัฒนาไม่แรงพอ ประเทศมาลาวีเป็นประเทศเดียวในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาในโลกที่ให้ยาต้านไวรัส สูตร 3 ตัว แก่หญิงตั้งครรภ์ทุกรายทันที ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ และให้ต่อไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต โดยไม่มีการหยุดให้หลังคลอด เพื่อรักษาแม่ให้มีสุขภาพที่ดี ไม่ให้ลูกต้องกำพร้าแม่ และยังป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปให้สามี อีกทั้งยังสามารถให้นมลูกหลังคลอดได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องเปลี่ยนแนวทางการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ในปีหน้านี้ และภายในปี 2558 จะต้องไม่มีเด็กที่คลอดออกมาแล้วติดเอดส์จากแม่อีกเลย
การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเสี่ยงโดยการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ "ทรูวาดา" ทุกๆ วัน ก็เป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งสืบเนื่องจากผลการศึกษาหลายชิ้นที่ให้ผลตรงกันว่า ยานี้ป้องกันได้ถึง 85% ถ้ารับประทานต่อเนื่องทุกวัน และประเด็นที่ถกกันมากคือ ใครควรจะได้ยานี้ เช่น ผู้ที่มีคู่นอนซึ่งติดเชื้อ กลุ่มเกย์ ผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด หรือในหญิงบริการทางเพศ ซึ่งถ้าให้ยานี้จะทำให้พวกเขาละเลยต่อการใช้ถุงยางอนามัยหรือเข็มฉีดยาที่สะอาดหรือไม่ และจะทำให้รับประทานยาต่อเนื่องและกลับมาตรวจเอดส์อย่างสม่ำเสมอได้อย่างไร แต่ก็คงจะหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในกลุ่มเสี่ยงไปได้อีกไม่นาน เพราะถ้าแพทย์ไม่สั่งให้พวกเขาก็อาจจะหันไปซื้อในตลาดมืดที่มีการโฆษณา ในเว็บไซต์และเฟซบุ๊คต่างๆ ทำให้เสี่ยงต่อการรับประทานยาปลอม
รวมทั้ง ปัญหากฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ในหลายประเทศที่ยังมีกฎหมายเอาผิดกับชายรักชาย การขายบริการทางเพศ ผู้ที่ติดยาเสพติดหรือแรงงานผิดกฎหมาย ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่กล้าเปิดเผยตัว และไม่กล้าไปรับบริการตรวจรักษา หรือรัฐไม่สนับสนุนงบประมาณในการดูแล ก็ยิ่งทำให้เอดส์แพร่ระบาดหนักขึ้นและลามไปสู่คนหมู่ใหญ่ของประเทศในที่สุด
แม้ว่า AIDS 2012 ได้ปิดฉากลงแล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและ NGO ไทย เกือบ 100 คน ที่เข้าร่วมประชุม ได้มีการนัดหมายกันว่าคนที่ทำงานด้านเอดส์น่าจะได้มีการนั่งพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับภาครัฐหรือกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการนำความรู้และวิวัฒนาการใหม่ๆ เหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้อย่างไร
ที่มา: นสพ.บ้านเมือง 25 ส.ค.55
- 3 views