เมื่อวันที่ 23 ส.ค. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ได้จัดให้มีการอภิปลายและแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่อง "ผลกระทบจาก FTA EU-ไทย กรณีการเข้าถึงยา" เนื่องจากอาเซียนและสหภาพยุโรปได้เจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันตั้งแต่ปี 2550 โดยความตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้า การค้าภาคบริการ การลงทุน และความร่วมมือในด้านต่างๆ
ซึ่งรวมถึงร่างเนื้อหาการเจรจาในกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ยุโรป มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยาคือ การขยายระยะเวลาการผูกขาดในสิทธิบัตร ซึ่งเป็นลักษณะที่เกินกว่าข้อตกลงพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS Agreement) หรือเรียกว่า TRIPS-plus ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงยาของประชาชนสภาที่ปรึกษาฯ ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากการเจรจา จึงจัดสัมมนาเรื่องดังกล่าวขึ้น โดยมีศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวเปิดการสัมมนา ณ ห้องประชุม 8 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้น ในที่ประชุมยังไม่มีการพูดคุยเรื่องผลกระทบจาก FTA EU-ไทย กรณีการเข้าถึงยาเลยทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องเปรียบเทียบหาข้อดี-ข้อเสีย ของการเข้าร่วม FTA และการทำอะไรก็ตามแต่ที่จะเข้าไปสู่การเจรจา ต้องเจรจาให้มีความยืดหยุ่นไว้ก่อน เพราะผู้เจรจาก็ต้องการเจรจาเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเช่นกัน
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า FTA ไม่ได้ทำข้อตกลงเรื่องยาโดยตรง แต่ไปเน้นด้านการจดสิทธิบัตรยา ซึ่งการจดสิทธิบัตรยานั้นถือเป็นการผูกขาดทางการค้า ทำให้ยามีราคาแพงขึ้น และประชาชนเข้าไม่ถึงยา การเข้าร่วม FTA จะเกิดผลกระทบคือ เป็นการกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญ จำกัดการใช้มาตรการยืดหยุ่นต่างๆ เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าการสาธารณสุข เป็นต้น จึงขัดแย้งกับนโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทยด้านยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะเมื่อยามีราคาแพงขึ้นจะทำให้รัฐบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
ดร.ชุติมา อรรคลีพันธุ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ถ้ามีการขยายการจดสิทธิบัตรยา ยาจะมีราคาเพิ่มขึ้นสูงมาก ระบบทรัพย์สินทางปัญญาทำให้ไม่ค่อยมียาเกิดขึ้นใหม่ รัฐบาลจึงควรกระตุ้นแรงจูงใจของบริษัทยา เช่น ให้รัฐบาลเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทยา หรือให้รัฐบาลเพิ่มเงินลงทุนในการวิจัยยารักษาโรคของผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้ในประเทศ ปฏิรูประบบสิทธิบัตรยาให้กว้างขวางและค่อนข้างเป็นรูปธรรม และให้รางวัลที่ไม่ใช่สิทธิบัตร เพื่อเป็นแรงจูงใจให้บริษัทยาคิดค้นและผลิตยาออกมาเพิ่มมากขึ้น
ดร.ภญ.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การผูกขาดข้อมูลทางยา ทำให้แม้ยาตัวนั้นจะหมดสิทธิบัตรยาไปแล้ว ก็ไม่สามารถนำผลวิจัยมาผลิตยาได้อีก ต้องทำการวิจัยใหม่เท่านั้น ซึ่งนั่นก็ทำให้ต้นทุนในการผลิตยาสูงขึ้นด้วย ถ้าไทยตกลงทำสัญญา FTA ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ด้านการผูกขาดข้อมูลยาในอีก 5 ปีข้างหน้า จะทำให้มีค่าใช้จ่ายยาเพิ่มขึ้นโดยประมาณการ 81,356 ล้านบาท และมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีต่อๆไป เป็นต้น และส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรนำเรื่องยา เข้าไปในระบบ FTA ไม่ว่าปีใดๆ
ในเวทีสัมมนามีข้อเสนอ ดังนี้
ภาครัฐ
- กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศควรเจรจากับทางรัฐบาลให้ตกผลึกก่อน แล้วค่อยไปเจรจากับทาง EU
- องค์การอาหารและยา พร้อมที่จะให้ข้อมูลทางเทคนิค เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นข้อมูลในการเจรจา
- การทำ FTA ต้องทำเพื่อให้ประเทศชาติได้รับผลประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ภาคเอกชน
- รัฐบาลควรหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำไปเสริมกับข้อมูลทางวิชาการ และควรนำข้อมูลที่ได้ไปผนวกในการตัดสินใจด้วย
- รัฐบาลจะต้องกำหนดกรอบในการเจรจา ว่าประเด็นไหนที่จะเจรจา และประเด็นไหนที่จะไม่เจรจา
ทั้งนี้ คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาฯ จะนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ไปรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
- 130 views