"กรุงเทพดุสิตเวชการ" ทุ่ม 540 ล้านเทกโอเวอร์โรงพยาบาลปัญญาเวชอินเตอร์ อุดรธานี ดีเดย์ 1 สิงหาคมนี้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงพยาบาล "กรุงเทพอุดร" พร้อมเดินหน้าปรับปรุง-ซื้อเครื่องมือแพทย์เฟสแรกให้เสร็จสมบูรณ์ ปลายปี'55 ด้านทุนท้องถิ่น "ร.พ.นอร์ท อีสเทอร์น-วัฒนา อุดรธานี" เร่งปรับตัว ได้มาตรฐาน HA พร้อมรับการแข่งขันและเข้าสู่เออีซี
ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดอุดรธานี ครองตลาดโดยทุนท้องถิ่น 3 กลุ่มใหญ่ที่จับตลาดกลางและบน ได้แก่ โรงพยาบาลเอกอุดร โรงพยาบาลนอร์ท อีสเทอร์น-วัฒนา และโรงพยาบาลปัญญาเวช อินเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลใจ กลางเมืองอุดรทั้งสิ้น โดยมีกลยุทธ์การตลาดแตกต่างกันไป เช่น โรงพยาบาลเอกอุดร มุ่งเน้นผูกขาดการโฆษณาผ่านสื่อท้องถิ่น อาทิ หนังสือพิมพ์และเคเบิลทีวี ขณะที่โรงพยาบาลนอร์ทอีสเทอร์น-วัฒนา จับ ตลาดกลาง ยังคงเน้นบริการต่อเนื่องแบบเจ้าเก่าอยู่นานถึง 27 ปี
ขณะที่โรงพยาบาลปัญญาเวชอินเตอร์นั้น กลุ่มเปาโลเคยเข้ามาบริหารและดึงกลับมาบริหารเองท่ามกลางกระแสข่าวการเทกโอเวอร์โดยโรงพยาบาลกรุงเทพ ล่าสุดนางดาวศิริ อยู่ประเสริฐ หนึ่งใน ผู้บริหารได้ยอมรับว่า ขายกิจการแล้วด้วยเม็ดเงิน 540 ล้านบาท
นายแพทย์สุนทร ศรีทา ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 4 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้ซื้อกิจการโรงพยาบาลปัญญาเวชอินเตอร์ด้วยวงเงิน 540 ล้านบาทตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประกอบด้วยที่ดิน 7 ไร่ อาคารใช้สอย 20,000 ตารางเมตร จำนวน 10 ชั้น ที่จอดรถ 120 คัน และในช่วงเดือนกรกฎาคมอยู่ระหว่างการ เปลี่ยนถ่ายธุรกิจด้านต่าง ๆ อาทิ ใบอนุญาต และในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ก็จะเปลี่ยนชื่อ เป็นโรงพยาบาลกรุงเทพอุดร ภายใต้การบริหารงานของบริษัท กรุงเทพอุดร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ
ทั้งนี้ มอบหมายให้นายแพทย์พิเชษฐ์ ชุนพิพัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพอุดร และตนเองเป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งทั้งโครงการตั้งแต่เงินลงทุนซื้อกิจการ ซื้อเครื่องมือ ปรับปรุงด้านต่าง ๆ ในเฟสแรก ประมาณ 850 ล้านบาท ในส่วนของทีมแพทย์ Full Time มี 20 คน พยาบาล 50 คน พนักงาน 150 คน ไม่รวมเอาต์ซอร์ซในเฟสแรก คาดว่าจะปรับปรุงให้เสร็จภายในวันที่ 30 พ.ย. 55 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการประมาณเดือนธันวาคม และเตรียมเปิดโพลีคลินิกที่นครหลวงเวียงจันทน์อีกด้วย
ส่วนในปี 2556 จะลงทุนเครื่องมือที่จะใช้ดูแลผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจ ศูนย์หัวใจ โดยวางแผนให้โรงพยาบาลแห่งนี้ ให้บริการเรื่องโรคหัวใจได้ครบวงจรเป็นแห่งแรกในอีสานเหนือ อาทิ การใส่บอลลูน การผ่าตัด การขยายหลอดเลือด เป็นต้น
"ช่วงแรกไม่หวังรายได้และกำไร เพราะการลงทุนโรงพยาบาลขั้นต่ำ 5 ปีจึงจะมีผลประกอบการเลี้ยงตัวเองได้ หากมีคนไข้นอกวันละ 200 คน คนไข้ในวันละ 30 คน ถือว่าโอเค หลังจากนั้นก็จะโต ปีละ 15-20%"
ด้าน รศ.ดร.พิพัฒน์ ตั้งสืบกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว และประธานบริษัท วัฒนาการแพทย์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลนอร์ทอีสเทอร์น-วัฒนา อุดรธานี เปิดเผยว่า จากการที่ไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 โรงพยาบาลได้พยายามปรับตัวรับการแข่งขัน โดยเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาตนเองจนได้มาตรฐาน HA โดยเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในภาคอีสานตอนบนที่ผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน)
ทั้งนี้ได้มีการพัฒนาบุคลากร การให้บริการผู้ป่วยทั้งแพทย์และพยาบาล ก้าวต่อไปคือ การลงทุนด้านเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถสื่อสารกับแพทย์อีกซีกโลกได้ อาทิ อินเดีย ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยให้การรักษาผู้ป่วยง่ายขึ้น
นอกจากนั้น ในปีที่ผ่านมารุ่นลูกได้ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับ "คลินิกสากล" ในนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมีเจ้าของเป็นคนลาว หากมีผู้ป่วยอาการหนักก็จะส่งต่อมาที่โรงพยาบาลเครือข่ายทั้งโรงพยาบาลหนองคายวัฒนา หรือมาที่โรงพยาบาลนอร์ทอีสเทอร์น-วัฒนา อุดรธานีด้วย
"ร.พ.กรุงเทพมาเปิดที่อุดรฯ มองว่าตลาดคนละกลุ่ม เพราะเราจับกลุ่มตลาดกลางบวกลบ อาศัยการให้บริการที่ดีมีคุณภาพ มีเตียงรองรับคนไข้กว่า 200 เตียง สามารถแข่งขันได้" รศ.ดร.พิพัฒน์กล่าว
ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 กรกฎาคม-1 สิงหาคม พ.ศ. 2555
- 718 views