สบส.ขยายเวลาให้ผู้ป่วยต่างชาติพำนักไทยเพื่อรักษาตัว รับ'เมดิคัล ฮับ' เน้นกลุ่มตะวันออกกลาง หลังพบนิยมเข้าใช้บริการ
นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า บริการทางการแพทย์เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ หรือเมดิคัล ฮับ ซึ่งล่าสุด สบส.ได้เสนอให้มีการขยายเวลาพำนักในประเทศไทยจาก 30 วัน เป็น 90 วัน กรณีที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กาตาร์ คูเวต โอมาน และบาห์เรน เนื่องจากประเทศเหล่านี้ให้ความนิยมในการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยพร้อมกับครอบครัวจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และอยู่ในประเทศไทยต่อแบบระยะยาว ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจหลักและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญยังไม่ปรากฏชัดในฐานข้อมูลอาชญากรรมหรือการก่อการร้ายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"เบื้องต้นการดำเนินการนี้จะครอบคลุมผู้ป่วย บุคคลในครอบครัวและผู้ติดตามรวมไม่เกิน 3-5 คน เป็นแบบมีเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลเท่านั้น โดยมีเวลาพำนักในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และสามารถขยายระยะเวลาต่อเนื่องได้รวมแล้วไม่เกิน 1 ปี ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่าตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ป่วยและญาติสามารถขยายเวลาพำนักในไทยในกรณีรับการรักษาพยาบาลได้ตามความเหมาะสมอยู่แล้ว" นพ.สมชัย
นอกจากนี้ อธิบดี สบส.กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องการขยายเวลาพำนักในไทยรวม 90 วัน สำหรับกรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องบูรณาการในภาพรวมทั้งระบบ โดย สธ.จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ประกอบการพิจารณาแนวทางดังกล่าว ทั้งการจัดทำประกาศบัญชีประเภทของบริการรักษาพยาบาล การจัดทำหลักเกณฑ์ประเภทของผู้ป่วย บุคคลในครอบครัวและผู้ติดตาม การจัดทำประเภทของเอกสารทางการแพทย์เพื่อใช้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และการจัดทำประกาศรายชื่อสถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะเข้าร่วม ดำเนินงาน
อนึ่ง จากสถิติการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2554 พบว่าคนสัญชาติบาห์เรน 22,873 ราย คูเวต 59,557 ราย โอมาน 57,571 ราย กาตาร์ 20,280 ราย และยูเออี 109,362 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยชาวตะวันออกกลางที่เข้ามารักษาพยาบาลในไทยเพิ่มขึ้นจาก 20,004 ราย ในปี 2545 เป็น 169,091 ราย ในปี 2550
นอกจากนี้ จากการประมาณการของกรมส่งเสริมการส่งออก และ สบส.เกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยต่างชาติและประมาณการรายได้จากบริการรักษาพยาบาล พบว่าจำนวนผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 1,373,807 ราย ในปี 2550 เป็น 2,240,000 รายในปี 2554 ประมาณการรายได้ปี 2550 จำนวน 41,000 ล้านบาท และปี 2554 จำนวน 97,874 ล้านบาท สำหรับในปี 2555 ประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในไทยราว 2,530,000 ราย ประมาณการรายได้ 121,658 ล้านบาท
ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 30 กรกฎาคม 2555
- 23 views