เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถึง ความคืบหน้านโยบายการร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาทต่อครั้งของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)มีมติให้ร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท ในกรณีที่ผู้ใช้สิทธิใช้บริการตั้งแต่โรงพยาบาลระดับอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขึ้นไป โดยยกเว้นสำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ฉบับที่ 1 และ 2 จำนวน 23 กลุ่ม
ส่วนบุคคลที่อยู่นอกเหนือข้อยกเว้นขึ้นกับความสมัครใจในการร่วมจ่าย โดยจะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 กันยายน 2555 ทั้งนี้ หน่วยบริการจะมีเงินรายได้จากการร่วมจ่ายคาดว่าปีละ 2,000 ล้านบาท โดยในอนาคตจะนำไปใช้พัฒนาคุณภาพปฐมภูมิ หรือการสนับสนุนค่าตอบแทนบุคลากร เป็นต้น คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ บอร์ดสปสช. กล่าวว่า สิทธิประโยชน์และคุณภาพบริการที่ประชาชนจะได้รับเพิ่มขึ้นจากการร่วมจ่าย 30 บาทนั้น คือเมื่อเกิดกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เร่งด่วน ผู้ป่วยได้รับบริการทุกที่ โดยไม่ถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายเงินก่อน กรณีเจ็บป่วยรุนแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง ประชาชนได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐานในทุกระบบหลักประกัน ในหน่วยบริการทุกระดับตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป
อีกทั้งจะเพิ่มบริการในช่วงบ่ายและไม่หยุดช่วงเที่ยงเพื่อลดความแออัดของการบริการในโรงพยาบาลทุกระดับ รวมทั้งผู้ป่วยสูงอายุจะได้รับบริการโดยไม่ต้องรอคิว ประชาชนจะได้รับการคัดกรองเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคเรื้องรังต่างๆ เมื่อประชาชนไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิจะได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ
อนึ่ง 23 กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องร่วมจ่าย อาทิ ผู้มีรายได้น้อยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้พิการ ทหารเกณฑ์ นักเรียนทหาร นักเรียนไม่เกินชั้น ม.ต้น อสม. พระภิกษุ สามเณรในพระพุทธศาสนา แม่ชี นักบวช นักพรต และผู้นำศาสนาอิสลาม เป็นต้น
ที่มา: นสพ.คมชัดลึก 11 ก.ค.55
- 2 views