“สสส.” เปิดสภาวการณ์เด็กและเยาวชนไทย จับตาสุขภาพเด็กไทย 50% ไม่กินข้าวเช้า นิยมสวย ผอม พบเด็กถึง 1 ใน 3 ที่คิดจะใช้ยาลดความอ้วนและทำศัลยกรรม ในด้านค่านิยม พบ 1 ใน 4 ยอมรับการมีกิ๊ก ขาดความรู้เรื่องเพศ ติดละครดราม่า ชวนธุรกิจบันเทิงใช้โอกาสดึงละครเป็นสื่อสอนความฉลาดในการใช้ชีวิต หนุนโรงเรียนเพิ่มพื้นที่ทางเลือกในโรงเรียน สร้างศักดิ์ศรีที่ดีให้เด็ก เชื่อจะลดความรุนแรงในโรงเรียน ขณะที่นักวิจัยด้านโภชนาการชี้เด็กไทยไม่ทานมื้อเช้า ส่งผลต่อสมาธิและไอคิว
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ กล่าวถึงรายงานสภาวการณ์เด็กและเยาวชนไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าสุขภาพของเด็กไทยพบตัวเลขที่น่าจับตาคือ เด็กส่วนใหญ่ไม่กินอาหารเช้า โดยพบว่า มีเด็กระดับ ม.ต้น และม.ปลายที่กินอาหารเช้าเป็นประจำเพียงร้อยละ 50 ขณะที่เด็กโตระดับอาชีวและอุดมศึกษา เหลือเพียงร้อยละ 37 และยังพบว่าเด็กที่ชอบกินผักเป็นประจำทุกมื้อก็มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น จึงควรรณรงค์ให้เด็กไทยกินข้าวเช้าและกินผักให้เพียงพอ นอกจากนี้ยังพบข้อกังวลถึงค่านิยม “สวยผอม” โดยมีเด็กถึง1 ใน 3 ที่คิดจะใช้ยาลดความอ้วนและทำศัลยกรรม และการเผชิญกับภาวะความเครียดซึ่งผลการสำรวจพบว่าเด็กในระดับมัธยมถึงอุดมศึกษา ประมาณ 1 ล้านคน มีอาการซึมเศร้าและหยุดหงิดไม่รู้สาเหตุ และเกือบร้อยละ 50 เคยมีอาการเครียดจนปวดท้องหรืออาเจียน จึงควรปรับการจัดการศึกษาในโรงเรียน โดยเพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเลือกที่หลากหลายให้เด็กมีทางออกจากความเครียด สร้างความสุขในการใช้ชีวิต ก่อให้เกิดศักดิ์ศรีและเคารพในตัวเอง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนได้ในเวลาเดียวกัน
“ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนเข้าสู่การมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 24 ในปี 2551 เป็นร้อยละ35 ในปี 2554 ขณะเดียวกันจากการสำรวจในปี2554 พบว่าเด็กถึงร้อยละ 27 มีเพื่อนสนิทเคยตั้งท้องหรือเคยทำแท้ง และมีเด็กไทยถึง 1 ใน 4 ที่รู้สึกว่าการมีกิ๊กหรือมีแฟนหลายๆคนพร้อมกันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ สะท้อนถึงพฤติกรรมและค่านิยมของเด็กจำนวนมากที่ยังสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างปัญหาให้ตนแอง นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กยังขาดความรู้เรื่องเพศ มีเพียงร้อยละ 53เท่านั้นที่รู้ถึงข้อจำกัดและความเสี่ยงในการใช้ถุงยางอนามัย และมีเด็กเพียงร้อยละ 57 ที่ยอมรับการพกถุงยางอนามัยติดตัว นอกจากนี้มีเด็กเพียง1 ใน 4 ที่รู้สึกว่าได้เรียนรู้เรื่องเพศอย่างพอเพียงจากโรงเรียน”ดร.อมรวิชช์ กล่าว
ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่า ประเด็นความรุนแรงในเด็กและเยาวชนไทยในรอบปีที่ผ่านมาพบว่า จากจำนวนเด็กในระดับมัธยมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศกว่า7 ล้านคน จะพบว่ามีเด็กและเยาวชนกว่า 700,000-1,000,000คน ตกอยู่ในภาวะความรุนแรงในโรงเรียน เช่น ถูกขู่กรรโชกทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย และการทะเลาะวิวาทกับเพื่อนนักเรียน โดยมีเด็กถึงร้อยละ33ที่พบเห็นการพกพาอาวุธร้ายแรง อาทิ ปืน มีดดาบ ระเบิดทำเอง ฯลฯเข้ามาในสถานศึกษาที่ตนอยู่ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว
ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่า นอกจากนี้สื่อยังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อเด็กไทย โดยใช้เวลาดูโทรทัศน์ คุยโทรศัพท์ เล่นอินเทอร์เน็ตรวมกันกว่า 7 ชั่วโมง/วัน ที่น่าสนใจคือ เด็กจำนวนกว่าร้อยละ 50 นิยมดูละครโทรทัศน์ รัฐบาลและผู้จัดละครจึงควรฉวยโอกาสนี้ใช้ละครโทรทัศน์เป็นสื่อสอนความฉลาดในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการปลูกฝังค่านิยมและความรับผิดชอบในเรื่องเพศและการแก้ปัญหาความรุนแรงอย่างสันติ รวมถึงการใช้โอกาสของสังคมออนไลน์ที่พบว่าเด็กทุกระดับชั้นกว่าร้อยละ60 ใช้อินเทอร์เน็ตในการเข้าสู่เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีในศึกษาและสร้างค่านิยมทางบวกแก่เด็กให้เป็นประโยชน์
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สสส.และกรมอนามัย กล่าวถึงปรากฎการณ์เด็กไทยไม่กินอาหารเช้าว่า เด็กที่ไม่กินอาหารเช้าจะส่งผลต่อสมาธิและประสิทธิภาพการเรียน โดยมีผลการเรียนต่ำกว่าเด็กที่กินอาหารเช้า เนื่องจากอาหารเช้าเป็นมื้อสำคัญที่สุดและจำเป็นต่อร่างกาย เพราะในช่วงเช้าต้องทำกิจกรรมอย่างมากโดยเฉพาะการเรียนหนังสือ ขณะที่พลังงานที่สะสมตั้งแต่มื้อเย็นจนถึงเช้ากลับมีไม่เพียงพอ ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอ่อนล้า เหนื่อย สารอาหารในเซลล์สมองลดลง ทำให้สูญเสียสมาธิในการเรียน เพราะหิว และหากไม่กินอาหารเช้าติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สารอาหารที่เลี้ยงสมองลดลง ส่งผลต่อสติปัญญาหรือไอคิวที่ต่ำลงในระยะยาว รวมถึงร่างกายเตี้ย แคระแกรน ในทางตรงกันข้ามอาจเกิดภาวะโรคอ้วนได้ด้วย 3 เหตุผล คือ 1.พลังงานที่หมดไปในช่วง 10.00 น. ส่งผลให้กินจุบจิบและกินอาหารว่างประเภทแป้งและน้ำตาล 2. กินชดเชยในมื้อเที่ยงและเย็นจึงมีพลังงานสะสมเกินความต้องการของร่างกาย และ 3 การเผาผลาญพลังงานลดลงทำให้อ้วนได้
นายสง่า กล่าวว่า จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กไทยไม่กินมื้อเช้า เพราะผู้ปกครองและเด็กไม่ตระหนักว่าเป็นมื้อสำคัญ, นอนดึกตื่นสาย ,ผู้ปกครองใช้ชีวิตที่รีบเร่งจึงไม่มีเวลาเตรียมอาหารให้ลูก ,กลัวอ้วน และอื่นๆ เช่น ยากจน ต้องการประหยัด ซึ่งหากมาจากปัญหาความยากจน ไม่มีเงินรับประทานอาหารเช้า อาจต้องมีการแก้ไขปัญหาโครงการอาหารเช้าในโรงเรียน เป็นต้น อย่างไรก็ตามสสส.และกรมอนามัยจะมีการสำรวจอย่างลงลึกถึงสาเหตุที่เด็กไทยไม่กินอาหารเช้า หากมีการรับประทานรูปแบบของอาหารมื้อเช้าเป็นลักษณะใด มีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ เพื่อหาทางแก้ปัญหาเชิงพฤติกรรมในระยะยาวต่อไป
ที่มา : www.manager.co.th
- 23 views