พาณิชย์ชี้นโยบาย “โอบามาแคร์” ที่บังคับให้คนอเมริกันซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อไทย เหตุทำคนอเมริกันจำนวนมากพุ่งเป้ามารักษาตัวที่ไทยมากขึ้น หลังเชื่อมั่นคุณภาพ มาตรฐานการรักษา บุคลากร การให้บริการ เผยเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ครองใจคนต่างชาติมากเป็นอันดับ 2 ของโลก

นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกาถึงกฎหมายประกันการคุ้มครองผู้ป่วย และการรักษาพยาบาลในราคาไม่แพง (Patient Protection and Affordable Care Act: PPACA) หรือ “โอบาม่าแคร์” ที่จะบังคับให้ชาวอเมริกันต้องซื้อประกันสุขภาพภายในปี 57 ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับภาษีว่า จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งเสริมธุรกิจบริการรักษาพยาบาล และธุรกิจบริการการแพทย์เชิงท่องเที่ยว เช่นประเทศไทย ที่ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และคาดว่าปีนี้ไทยจะมีรายได้เข้าประเทศกว่า 121,658 ล้านบาท จากผู้ใช้บริการ 2.53 ล้านคน

ทั้งนี้ เพราะนโยบายดังกล่าว จะทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากจากสหรัฐฯ มารักษาพยาบาลในไทย เพราะมีราคาถูกกว่าการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนของสหรัฐฯ แต่มีคุณภาพ มาตรฐานด้านการรักษาพยาบาล และการให้บริการ ซึ่งจากสถิติของกระทรวงพาณิชย์ที่เก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลเอกชนในปี 54 มีผู้เข้ารับการรักษากว่า 842,000 คน และมีพลเมืองสหรัฐฯ มาใช้บริการในไทยถึงกว่า 71,300 คน เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาถึงกว่า 182,300 คน นอกนั้นเป็นเอเชียใต้ อังกฤษ ตะวันออกกลาง อาเซียน จีน เยอรมนี รวมถึงพม่า ที่เริ่มเข้ามาใช้บริการจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มียอดรวมของผู้มาใช้บริการด้านสุขภาพในไทยเกือบ 11 ล้านคน ซึ่งรวมคนต่างชาติที่ทำงานและอาศัยในไทย โดยโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษามากที่สุด คือ เครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งได้รับความไว้วางใจเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเครือโรงพยาบาลในออสเตรเลีย โดยมาใช้บริการอันดับหนึ่ง คือ บริการตรวจสุขภาพ 17%, ศัลยกรรมความงาม 14%, ทำฟัน 11%, กระดูก 10.5%, ผ่าตัดหัวใจ 7% เป็นต้น”

นายภูมิ กล่าวต่อว่า ไทยมีจุดแข็งในด้านบริการที่เป็นเลิศ และการจัดบริการเฉพาะกลุ่มลูกค้าได้ดี การรักษาพยาบาลที่หลากหลาย มีคุณภาพสูง ค่ารักษาต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง มาตรฐานอยู่ในระดับสากล มีบริการที่พักฟื้น และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับญาติ หรือผู้ดูแลผู้ป่วย แต่ยังมีสิ่งที่ต้องผลักดันและส่งเสริมต่อไปคือ การผลิตบุคลากรในวงการแพทย์ พยาบาล การรักษาพยาบาลคนไทยในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการวางแผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในธุรกิจบริการรักษาพยาบาล และธุรกิจบริการการแพทย์เชิงท่องเที่ยว

สำหรับโอบามาแคร์มีจุดประสงค์ขยายระบบประกันสุขภาพ ให้ครอบคลุมถึงคนอเมริกัน 33 ล้านคนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ โดยภาครัฐจะมีเงินสนับสนุนแก่บุคคลและครอบครัว ที่มีรายได้น้อย และปานกลางที่ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ พร้อมทั้งยังมีข้อบังคับที่ห้ามบริษัทประกันภัย ปฏิเสธลูกค้าที่มีปัญหาสุขภาพ รวมทั้งเพิ่มโทษปรับแก่บริษัทขนาดใหญ่ ที่ไม่ซื้อประกันให้พนักงาน ซึ่งถือเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 50 ปีของสหรัฐฯ

 

ที่มา: http://www.thairath.co.th