นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยในการประชุมสัมมนาระดมความเห็นเรื่อง "การยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า ภายใต้องค์การการค้าโลก (ความตกลงทริปส์)" ว่า ที่ผ่านมาประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตยา กังวลว่า ความคุ้มครองสิทธิบัตรในกรอบของ WTO อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาของประเทศสมาชิก ซึ่งที่ประชุมคณะมนตรีใหญ่ WTO ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะแก้ไขความตกลงทริปส์ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องการส่งเสริม สุขภาพและแก้ปัญหาการเข้าถึงยาของประเทศที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตยา จึงได้จัดทำพิธีสารดังกล่าวขึ้น
อย่างไรก็ตามพิธีสารนี้จะมีผลใช้บังคับ ก็ต่อเมื่อประเทศสมาชิก WTO จำนวน 2 ใน 3 ของประเทศสมาชิก WTO ทั้งหมด ยอมรับ คือ 105 ประเทศ จากทั้งหมด 157 ประเทศ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิก WTO เพียง 70 ประเทศที่แจ้งยอมรับพิธีสาร ทำให้นายปาสคาล ลามี่ ผู้อำนวยการใหญ่ WTO เชิญชวนให้สมาชิกที่ยังไม่ได้ยอมรับ พิธีสาร เช่น ไทย เร่งยอมรับ เพื่อให้พิธีสาร มีผลใช้บังคับ และเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและการ เข้าถึงยา ตามปฏิญญารัฐมนตรี WTO ในการประชุมที่กรุงโดฮา เมื่อปี 2548
ทั้งนี้ในส่วนของไทยที่ยังไม่ได้ยอมรับพิธีสาร เนื่องจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่า พิธีสารแก้ไขความตกลงทริปส์ด้านสาธารณสุข ถือเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง จึงต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนให้มีการยอมรับได้ ขณะเดียวกันการจะปฏิบัติตามพิธีสารจำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งต้องใช้ความรอบคอบ รวมทั้งต้องหารือทำความเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวง พาณิชย์ จึงจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นขึ้น ซึ่งได้เชิญนายโรเจอร์ แคมป์ ผู้ทรงคุณวุฒิ จาก WTO ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสิทธิบัตร มาร่วมให้ความรู้ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญและกระบวนการยอมรับพิธีสาร เพื่อรวบรวมความเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาพิจารณา
ที่มา: นสพ.แนวหน้า 15 ก.ย. 2555
- 3 views