ครบ 3 เดือนแล้ว สำหรับเวลาทดลองระบบนโยบายรวม 3 กองทุนที่เริ่มเปิดบริการสาธารณสุขเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาได้ทุกที่ตามสะดวก โดยไม่ต้องถูกถามสิทธิ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 นับว่าที่ผ่านมามีการสะท้อนปัญหาจากทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการอยู่ไม่น้อย แม้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะระบุว่าประชาชนพึงพอใจกับการให้บริการ แต่กลับพบว่ามีการเรียกเก็บเงินค่ารักษา ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนขอให้มีการทบทวนอัตราบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินเสียใหม่ เป็นต้น
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในฐานะที่เสมือนหน่วยงานที่ซื้อบริการสุขภาพ ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากภาค รพ.เอกชน โดยเลือกสำรวจพื้นที่หน่วยบริการในภาคเหนือ รพ.ราชเวช จ. เชียงใหม่
ศ.นพ.ชาลี พรพัฒน์กุล ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลราชเวช เชียงใหม่ เปิดเผยว่า รพ.ราชเวชฯอยู่ในเครือของบริษัท ศิริเวช เมดิคอล จำกัด มีขนาด 150 เตียง มีโครงการพิเศษหลายสาขา เช่น คลินิกมะเร็งลำไส้ระยะแรกเริ่ม คลินิกผู้สูงอายุ คลินิกโรคไต คลินิกโรคหัวใจ ฯลฯ โดยเน้นที่มาตรฐานการแพทย์ระดับสากล และด้วยความพร้อมด้านบริการดังกล่าวจึงสามารถสนองตอบการบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนของรัฐบาลได้อย่างสะดวก โดยปัจจุบันรพ.มีการบริการผู้ป่วยนอกประมาณวันละ 700-800 ราย ขณะที่ผู้ป่วยในมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 10-15% หลังจากที่รพ.เริ่มเปิดบริการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย คือ เร่งรักษาผู้ป่วยให้พ้นภาวะวิกฤตภาย ใน 72 ชั่วโมง ก่อนส่งต่อ รพ.ต้นสังกัด
ส่วนประเภทการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ผู้ป่วยมารับบริการนั้นมีความหลากหลาย เช่น การฆ่าตัวตาย กล้ามเนื้อหัวใจตายและวายเฉียบพลันมีแผลไฟไหม้จากไฟฟ้าชอต เลือดออกในสมองจากอุบติเหตุทั่วไป รวมทั้งสิ้น 22 ราย รักษาหายและกลับบ้านได้ 5 ราย ส่งต่อ รพ.ต้นสังกัด 9 ราย และเสียชีวิต 8 ราย ส่วนอัตราการเบิกจ่ายตั้งแต่เริ่มบริการ 1 เม.ย.-25 มิ.ย. มียอดค่าใช้จ่าย ประมาณกว่า 1 ล้านกว่าบาท จำนวนที่เบิกได้จาก สปสช. ประมาณ 320,000 กว่า บาท ส่วนต่างที่ยังเบิกไม่ได้ประมาณ689,000 บาท ผู้ป่วยอาการไม่หนักแต่มาขอใช้บริการประมาณ 4 ราย
"ปัญหาการเบิกจ่ายในส่วนดังกล่าว มีสาเหตุหลายอย่าง ทั้งกรณีที่ผู้ป่วย ซึ่งมีอาการไม่หนักมารับบริการมากถึง 4 ราย, ผู้ป่วยมาขอใช้สิทธิในภายหลังจากที่เข้ามาด้วยสิทธิอื่น เช่น มาด้วยสิทธิชำระเงินแต่ มาขอเปลี่ยนเป็น สิทธิฉุกเฉิน และที่เหลือจะเป็นปัญหาการส่งต่อกับไม่ทราบสิทธิ ไม่ทราบชื่อของผู้ป่วยแต่ก็ต้องทำหน้าที่บริการต่อไป ในฐานะสถานพยาบาล แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าค่า DRG ที่สปสช.จ่ายให้ประมาณ 10,500 บาท ยังถือว่าน้อยมาก จึงอยากให้พิจารณาปรับเปลี่ยนราคาดังกล่าวให้เหมาะสม แต่ในส่วนของการบริการแม้จะมีปัญหาเล็กน้อยแต่ก็ถือว่าเป็นการดำเนินงานภายใต้มาตรฐานการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและคืนคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วย" ศ.นพ.ชาลี แจกแจง
ด้าน พญ.เขมรัสมี ขุนศึก-เม็งราย ที่ปรึกษาอาวุโส สปสช.เสริมว่า ความก้าวหน้าบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินฯยังถือว่าเริ่มต้น ดังนั้นเรื่องของปัญหาต่างๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็จะพยายามหาทางปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นโดยการประเมินเบื้องต้นในภาพรวมทั้งประเทศ ตั้งแต่ เริ่มให้บริการ 1 เม.ย.2555 ถึงวันที่ 13 มิ.ย.55 ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ 2,353 คน ใน 191 รพ.เอกชน ใน 50 จังหวัด แบ่งเป็นบริการผู้ป่วยนอก 28% และผู้ป่วยใน 72% โดยใช้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร 42% และต่างจังหวัด 58% เฉลี่ยผู้รับบริการวันละ 32 คน ซึ่งการให้บริการตามโครงการนี้สามารถช่วยชีวิตประชาชนได้ 92.6% และช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ต้องจ่ายหากไม่มีโครงการนี้ได้ถึง 56.34 ล้านคน โดยรัฐบาลเสียค่าใช้จ่าย 27.39 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างที่สปสช.รอเรียกเก็บเงินที่สำรองจ่ายไปก่อนจากสำนักงานประกันสังคม 1.8 ล้านบาท และจากกรมบัญชีกลาง 7.5 ล้านบาท
"อย่างไรก็ตาม กรณีของ รพ.ราชเวชเชียงใหม่ ถือว่าเป็นรพ.เอกชนที่ให้ความร่วมมือกับการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลได้ดี และสนองตอบนโยบายได้ชัดเจน แต่กรณีของปัญหาและอุปสรรคที่พบนั้น สปสช.จะเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพต่อไป" พญ.เขมรัสมี ทิ้งท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน 6 ก.ค.2555
- 223 views