รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย - เมียนมาร์ หารือทวิภาคี พัฒนาความร่วมมือแก้ไขปัญหาสาธารณสุขตามแนวชายแดน โดยเฉพาะโรคเอดส์ โรคมาลาเรีย และวัณโรค ใน 4 จังหวัดคู่แฝด คือเชียงราย-ท่าขี้เหล็ก ตาก-เมียวดี กาญจนบุรี- เมืองพญาตองซู ระนอง-เกาะสอง รวมทั้งการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานอพยพและประชาชนชายแดน และการพัฒนาบุคลากรและอุปกรณ์เพื่อดูแลผู้พิการ
บ่ายวันนี้ (6 กรกฎาคม 2555) ที่โรงแรมโมเวนพิค รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ภูเก็ต นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมหารือทวิภาคีกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ เป เตท ขิ่น (Pro.Dr.Pe Thet Khin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาร์ นายแพทย์หม่อง หม่อง มิน เตียน (Dr.Maung Maung Min Thein) อธิบดีกรมสุขภาพ และนายแพทย์ซอ หวิ่น (Dr. Saw Lwin) รองอธิบดีกรมสุขภาพ ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนครั้งที่ 11
นายวิทยา กล่าวว่า การหารือทวิภาคีครั้งนี้เป็นไปด้วยดี โดยได้หารือความร่วมมือ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การพัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุข เพื่อควบคุมป้องกันโรคและคุณภาพสินค้าตามแนวชายแดน ได้แก่ โรคเอดส์ มาลาเรีย วัณโรค และการควบคุมอาหาร และยา รวมทั้งพัฒนาระบบริการสาธารณสุขชายแดนแบบผสมผสาน มีการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยข้ามแดน เพื่อให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อเรื้อรังได้รับยาต่อเนื่อง ช่วยป้องกันเชื้อดื้อยา 2.ความร่วมมือการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน เนื่องจากไทยได้รับมอบหมายจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้จัดทำกลยุทธ์เพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของประชากรอาเซียน รวมทั้งแรงงานอพยพและประชาชนบริเวณชายแดนให้แล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2556 ส่วนเมียนมาร์ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการดังกล่าวของประชาชนอาเซียน ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุนวิชาการ เทคโนโลยีระบบบริการภาคประชาชน
และ 3.การสนับสนุนให้ประเทศเมียนมาร์ มีการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ผลการหารือเป็นไปด้วยดี โดยจะมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู (Memorandum of Understanding) และมอบหมายให้กรมควบคุมโรคร่วมจัดทำแผนปฏิบัติงานการควบคุมโรคตามแนวชายแดนที่จะใช้ในปี 2556-2558 ต่อไป และตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างเขตแดนด้านการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนอาเซียน กำหนดกลไกการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพต่อไป และ4.ความร่วมมือในการผลิตเซรุ่มแก้พิษงูกะปะซึ่งมีราคาแพง โดยขอการสนับสนุนทางวิชาการในการผลิตเซรุ่มจากไทยด้วย
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขไทยและเมียนมาร์ มีความร่วมมือในการควบคุม เฝ้าระวัง ป้องกันโรคติดต่อ รวมทั้งโรคระบาดอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน ตั้งแต่พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ขณะนี้อยู่ในช่วงแผนปฏิบัติการพ.ศ.2554-2555 จะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการควบคุมป้องกันโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคอื่นๆ ที่ระบาดตามแนวชายแดน โดยมีการปรับปรุงวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคด้วยวิธีด็อท (DOTS) หรือการใช้ระบบพี่เลี้ยงติดตามการกินยาของผู้ป่วยวัณโรคให้ต่อเนื่องครบตามสูตรแพทย์สั่งเพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาในพื้นที่บางจุดสลับกัน เช่นที่ด้านจังหวัดระนอง และที่อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งเป้าหมายจะให้กินยาครบสูตรให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 และลดอัตราตายจากโรคมาลาเรียให้ได้ตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสววรรษหรือเอ็มดีจี (MSGs) โดยมีพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนคู่แฝด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย-ท่าขี้เหล็ก จังหวัดตาก-เมียวดี จังหวัดกาญจนบุรี-เมืองพญาตองซูหรือด่านเจดีย์สามองค์ และจังหวัดระนอง-เกาะสอง มาตรการที่จะนำมาใช้เช่น การตั้งหน่วยมาลาเรียคลีนิกให้บริการตรวจรักษาฟรี ซึ่งใช้ได้ผลดีในประเทศไทย ประชาชนเข้าถึงง่าย โดยใช้งบประมาณของแต่ละประเทศและเงินสนับสนุนภายนอก เช่นองค์การอนามัยโลก โครงการพัฒนาประเทศลุ่มน้ำโขง เป็นต้น ปีละประมาณ 10 ล้านบาท
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับความร่วมมือด้านการจัดบริการผู้พิการให้เมียนมาร์นั้น เมียนมาร์มีโรงพยาบาลให้บริการผู้พิการเพียง 3 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง กระทรวงสาธารณสุขไทยจะให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรผลิตแขนขาเทียมให้บริการแก่ผู้พิการ และจัดทำแผนการจัดหาและผลิตชิ้นส่วนกายอุปกรณ์ เพื่อขยายโรงงานกายอุปกรณ์ให้กระจายทั่วประเทศเมียนมาร์ โดยมอบหมายให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์เป็นผู้ประสานงานหลัก ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2555 ไทยได้ส่งทีมแพทย์ไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลฟื้นฟูสมรรถภาพคนผู้พิการแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง เป็นโรงพยาบาลขนาด 50 เตียง มีบุคลากร 101 คน โดยที่เมียนมาร์ไม่มีการเรียนการสอนการผลิตกายอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน ชิ้นส่วนกายอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ขณะนี้ ได้รับการบริจาคจากสภากาชาดสากล และหยุดสนับสนุนตั้งแต่พ.ศ. 2552 กายอุปกรณ์ที่มีอยู่ใช้ให้บริการได้อีก 6 เดือน โดยมีผู้ป่วยนอกใช้บริการปีละประมาณ 8,200 ราย ส่วนใหญ่มีปัญหาโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ รองลงมาคือพิการแขนขาขาด มีผู้ป่วยในประมาณปีละ 370 ราย
ทั้งนี้ รัฐมนตรีทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงที่จะทำเอ็มโอยูร่วมกันฉบับใหม่เพื่อทดแทนฉบับเดิมที่มีอายุกว่า 10 ปีแล้ว โดยตกลงจะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อลงนามในเอ็มโอยูที่เมืองมันฑะเลย์ สหภาพเมียนมาร์ ภายในปีนี้
- 9 views