รมว.สธ.มอบ สปสช.เร่งพัฒนาข้อมูล อปท.ร่วมกันเพื่อขยายความครอบคลุมการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินและสวัสดิการรักษาพยาบาล ให้กับข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น คาด สรุปผลได้ภายใน 3 เดือน ด้านนายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ชี้ ท้องถิ่นจะได้รับการดูแลด้านรักษาพยาบาลเพื่อคนท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม เรื่อง รับฟังความคิดเห็นต่อการขยายความครอบคลุมการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และการคุ้มครองความมั่นคงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น
นายวิทยา กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายสร้างความเสมอภาคของ 3 กองทุน โดยเริ่มที่บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา ซึ่งให้ความคุ้มครองกับสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ยังไม่สามารถดำเนินการครอบคลุมข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นจำนวนกว่า 400,000 คนได้ อีกทั้งสถานการณ์ปัจจุบันท้องถิ่นประสบปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะโรคค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากท้องถิ่นต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีกฎหมายและระเบียบเฉพาะรวมทั้งการเบิกจ่ายค่ารักษาแยกส่วนแต่ละองค์กร และแตกต่างจาก 3 กองทุน จากประเด็นนี้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้นโยบายสร้างความเสมอภาค 3 กองทุนคุ้มครองทุกคนอย่างแท้จริง ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทุกคนทุกสิทธิ
รมว.สธ.กล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ไขนั้น ในส่วนของการเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และรวมถึงบริการสาธารณสุขอื่นๆที่จะมีการบูรณาการต่อไปตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้ครอบคลุมข้าราชการและพนักงาน อปท.ให้ได้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เรื่อง ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของบุคคลที่กำหนดขึ้นสำหรับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมทั้งบิดา มารดา คู่สมรส บุตร หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลโดยอาศัยสิทธิของบุคคลจากหน่วยงานข้างต้น โดยให้คณะกรรมการมีหน้าที่จัดการให้บุคคลดังกล่าวสามารถได้รับบริการสาธารณสุขตามที่ได้ตกลงกัน การให้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.นี้ได้เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เป็นไปตามที่เจรจาตกลงร่วมกัน
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า มีความเห็นร่วมกันตั้งกองทุนดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น โดยมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาภายใต้มาตรา 9 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้กองทุนสวัสดิการนี้ เป็นการเห็นชอบร่วมกันระหว่างท้องถิ่น และ สปสช.ซึ่งจะคล้ายกับ 3 กองทุนโดยงบประมาณกองทุนจะมาจากการขอกันเงินที่จ่ายอุดหนุนประจำปีให้ อปท.ทุกแห่ง เพื่อใช้เป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ สำหรับเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/ท้องถิ่น รวมทั้งจะมีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยท้องถิ่นทุกฝ่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นเพื่อจัดทำรายละเอียดสิทธิประโยชน์ ร่างเป็นพระราชกฤษฎีกาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ จะได้นำข้อสรุปที่ได้ในการประชุมครั้งนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป ขณะเดียวกัน สปสช.เตรียมยกร่างสิทธิประโยชน์และแผนบูรณาการร่วมกัน ในเรื่องความมั่นคงสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น เสนอให้คณะทำงานพิจารณาออกเป็นพระราชกฤษฎีกาภายใน 3 เดือนนี้
ด้าน นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ท้องถิ่นจะได้รับการดูแลทางด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล เพราะสมาคมได้ให้ความสำคัญกับการดูแลทางด้านรักษาพยาบาลเนื่องจากได้รับการร้องเรียนสิทธิต่างๆ จากพนักงานมาตลอด โดยเฉพาะการเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจากข้อสรุปในเบื้องต้นในครั้งนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพของคนไทยเพื่อให้เกิดการบูรณาการของประชาชนทุกคนต่อไป
ทั้งนี้ ตัวแทนที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย และ นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย นายวิจารณ์ กุลชนะรัตน์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี นายกสมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นางบุณยรัตน์ สุขจิตต์ ตัวแทนนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากสมาคมข้าราชการและพนักงานจ้างท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการส่วนตำบลและเทศบาล ตัวแทนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมลูกจ้างประจำองค์การบริหารจังหวัดแห่งประเทศไทย เป็นต้น
- 1 view