สปสช. เผยเอแบคโพลล์สำรวจ “เจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ” คนพอใจอันดับหนึ่งนำ ได้ 7.94 จากคะแนนเต็มสิบ นำทุกนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่ 1 เม.ย. มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงบริการ 2,714 ราย รัฐบาลจ่ายชดเชยให้รพ.ไปแล้ว 31.5 ล้านบาท ตั้งเป้าสร้างความเสมอภาคเอดส์ ไต และเตรียมเสนอรัฐบาลลดเหลื่อมล้ำมะเร็งต่อไป
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายสร้างความเสมอภาคการรักษาพยาบาลระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ โดยเริ่มดำเนินการ “นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” ผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-20 เม.ย. พบว่า ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันของ 3 กองทุนคือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เสมอภาค เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จากข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 20 มิ.ย. พบว่า มีผู้เข้าถึงบริการโดยใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบ 2,714 คน ใน 191 โรงพยาบาล 50 จังหวัด สามารถช่วยชีวิตประชาชนได้ 92.6 % โดยรัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยให้โรงพยาบาลไปแล้ว 31.51 ล้านบาท
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจต่อโครงการหรือมาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ ของรัฐบาลจำนวน 19 โครงการ โดยกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจ คือ ประชาชนทั่วไปที่มีสิทธิในกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากทั่วประเทศ เก็บรวบรวมข้อมูลจาก 21 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 3,721 ตัวอย่าง ระยะเวลาในการดำเนินงานโครงการสำรวจ ระหว่างวันที่ 10 – 18 พฤษภาคม 2555 พบว่า โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น ประชาชนให้ความพึงพอใจเป็นอันดับหนึ่ง ได้คะแนนความพึงพอใจ 7.94 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 มากกว่าโครงการหรือมาตรการอื่น ๆ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได การเร่งป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน การลดภาษีซื้อบ้านหลังแรก การจัดหาคอมพิวเตอร์แทบเล็ตให้นักเรียน เป็นต้นทั้งนี้นโยบายที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุน คือ การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- 3 views