10 ประเทศอาเซียนรวม บังคลาเทศ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ทำแผนรับมืออาหารปลอดภัยในภาวะฉุกเฉิน
วันนี้ (27 มิถุนายน 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการสัมมนานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเกษตร จาก 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา พม่า ลาว เวียดนามและไทย นอกจากนี้ยังมีอีก 3 ประเทศร่วมประชุมด้วยคือ บังคลาเทศ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อระดมสมองจัดทำแผนอาเซียนในการรับมือความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศในภาวะฉุกเฉินวิกฤต จัดโดยสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอ (FAO) สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระหว่างวันที่ 27–29 มิถุนายน 2555
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ภัยภาวะฉุกเฉินวิกฤตเกิดถี่ขึ้นและกระจายทั่วโลก ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหว น้ำท่วม สารเคมี เชื้อโรคใหม่ จากสัตว์และคน ซึ่งจะมีผลกระทบในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ก่อให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วย รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตจากอาหาร และการหวาดวิตกต่ออาหารที่จะบริโภค และมีผลต่อความมั่นคงของมนุษย์และเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบเสียหายหรือมีราคาแพง ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยเกิดความอดอยาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทำให้เกิดภาวะการขาดสารอาหาร หรือมีความเสี่ยงสูงในการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสารเคมีอันตราย ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก และรัฐบาลไทย มีนโยบายพัฒนามาตรฐานอาหารไทยจากครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทั้งเรื่องของโรคระบาดและภัยใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายรวมทั้งภัยธรรมชาติ จำเป็นจะต้องมีการจัดการอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน ซึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้การรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินประสบความสำเร็จ จะต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหาร กับภาครัฐบาล ภาคเอกชน รวมทั้งการขยายความร่วมมือจากกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อไปว่า ในการรับมือดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาหน่วยงานใหม่เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยจัดตั้งสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย เป็นองค์กรหลักสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานดังกล่าวจะเป็นศูนย์ประสานองค์กรต่างๆ ทั้งระดับในประเทศและต่างประเทศในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินด้านความปลอดภัยอาหาร (International Food Safety Authority Network : INFOSAN) ของประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือในการพัฒนาแผนรับมือความปลอดภัยอาหารในภาวะฉุกเฉิน ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ สอดคล้องกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเตือนภัย และสืบสวนด้านความปลอดภัยอาหาร ซึ่งจะทำให้ประชาชนไทยทั้งหมดบริโภคอาหารปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมี หรือเชื้อโรคต่างๆ คาดว่าน่าจะเสร็จภายใน 1-2 ปีนี้ และจะเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558
- 37 views