กระทรวงสาธารณสุข เปิดงานรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ วันที่ 25 มิถุนายนของทุกปี เผยเพราะพระบารมีในหลวง ทำให้โรคเอ๋อลดลง ประชาชนใช้เกลือและผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนเพิ่มมากขึ้นครอบคลุมครัวเรือนร้อยละ 90-99 ไอคิวเด็กไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 98 จุดเท่ามาตรฐานสากล ตั้งอสม. 1 ล้านคนเป็นทูตไอโอดีน เพื่อควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัยทุกหมู่บ้าน และให้ไอคิวเด็กไทยเท่าสากล
วันนี้ (25 มิถุนายน 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ ที่สถานีรถไฟ (หัวลำโพง) กรุงเทพมหานคร ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ 25 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2545 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่สภานานาชาติเพื่อการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน หรือไอซีซีไอดีดี (International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders, ICCIDD) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง ICCIDD ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการวินิจฉัยปัญหา และพระราชทานแนวทางการแก้ไขโรคขาดสารไอโอดีนหรือโรคเอ๋อในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินงานเพื่อควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนมาอย่างต่อเนื่อง และจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2546 เพื่อสร้างกระแสและรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงภัยร้ายของการขาดสารไอโอดีน
นายวิทยากล่าวว่า การขาดสารไอโอดีนจะพบได้ในทุกกลุ่มอายุและจะแสดงผลชัดเจนในกลุ่มเด็กทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา หากหญิงตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีนจะส่งผลให้ทารกมีพัฒนาการทางสมองไม่เต็มที่ และหากขาดสารไอโอดีนมาก อาจทำให้เด็กทารกในครรภ์เสียชีวิต แท้งหรือพิการได้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้พื้นที่ที่มีหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร เกินร้อยละ 50 เป็นพื้นที่ขาดสารไอโอดีน ซึ่งจากการสำรวจไอโอดีนในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ 75 จังหวัดในประเทศไทย พบหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร มีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 71.8 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 52.5 ในปี 2553 และจากการประเมินล่าสุดในปี 2555 พบว่าลดลงเหลือร้อยละ 39.7 ขณะเดียวกันพบว่าสถานการณ์ไอคิวเด็กไทยดีขึ้น ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 98 จุด จากเดิมในปี 2552 เฉลี่ย 91 จุด แม้จะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่มีไอคิวเฉลี่ย 104 จุด จะต้องเฝ้าระวังและป้องกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสติปัญญาของเด็กไทยสูงขึ้น
“มาตรการหลักในการให้คนไทยทุกคนได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ ไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงและขจัดปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนให้หมดไปจากประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนใช้เกลือเสริมไอโอดีนและผลิตภัณฑ์ปรุงรสเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ เช่นน้ำปลา ซีอิ๊ว และซอสปรุงรสในการปรุงอาหารทุกครั้ง โดยแต่งตั้งอสม.จำนวน 1 ล้านคนเป็นทูตไอโอดีน สร้างความเข้มแข็งและให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ ส่งผลให้ขณะนี้ครัวเรือนใช้เกลือเสริมไอโอดีนทั่วประเทศครอบคลุมถึงร้อยละ 90 บางจังหวัดสูงถึงร้อยละ 99 ซึ่งสูงกว่าปี 2552 ที่มีเพียงร้อยละ 77เท่านั้น และได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายแก้ปัญหาขาดสารไอโอดีนขับเคลื่อนให้เกิดชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนทั่วประเทศแล้ว 72,766 แห่งจากทั้งหมด 77,373 แห่ง และผ่านการรับรองเป็นชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนอย่างเป็นทางการแล้ว 38,663 แห่ง ใน 71 จังหวัด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้านนายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้กรมอนามัยสำรวจการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนใน ในประชากรวัยทำงานที่มีอายุ 20 – 59 ปี ในพื้นที่ศูนย์อนามัยเขตของกรมอนามัย 12 จังหวัด จำนวน 1,703 คน ในปี 2555 พบว่า ร้อยละ 94.5 มีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนในครอบครัว ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนที่ใช้มากที่สุด คือ เกลือเสริมไอโอดีนร้อยละ 87.8 รองลงมาคือ น้ำปลาร้อยละ 75.1 ซ๊อสร้อยละ 55 และซีอิ๊วร้อยละ 53.1 นอกจากนี้ ร้อยละ 84.1 ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนมากกว่า 1 ชนิด ส่วนใหญ่ใช้ 4 ชนิด คือ เกลือ น้ำปลา ซ๊อส และซีอิ๊ว รองลงมาคือ 2 ชนิด คือ เกลือและน้ำปลา คิดเป็นร้อยละ 31.1 และ 19.6 ตามลำดับ
ทางด้านนพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อสำรวจการรับรู้ของประชาชนด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนพบว่า ประชาชนร้อยละ 92.1 รู้ว่าสารไอโอดีนมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านการเสริมสร้างพัฒนาการสติปัญญาในเด็กเล็ก ร้อยละ 82.7 รู้วิธีป้องกันการขาดสารไอโอดีน โดยการรับประทานอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน ร้อยละ 79.2 รู้ว่ามีกฎหมายบังคับให้เกลือและผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส 4 ชนิด ได้แก่ น้ำปลา น้ำเกลือปรุงรส ซ๊อส ซีอิ๊ว ต้องเติมสารไอโอดีน
“ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนงานในอนาคตกรมอนามัย จะขับเคลื่อนให้เกิดจังหวัดไอโอดีน ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
- 49 views