จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี2558 จึงทำให้หลายภาคส่วนธุรกิจต้องเร่งพัฒนาพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย ที่ต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อรองรับผู้ป่วย หรือชาวต่างชาติในแถบอาเซียน ที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังต้องรักษาแพทย์และพยาบาลที่ชำนาญการให้ทำงานอยู่ต่อ โดยไม่ย้ายไปทำงานในประเทศแถบอาเซียนตามกรอบสนธิสัญญา

พัฒนาแพทย์เฉพาะทาง

ในเรื่องนี้ นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา กล่าวว่า ในปี 2555 นี้ทางโรงพยาบาลมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ปี 2558 อย่างต่อเนื่อง โดยรองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติที่จะเข้ามารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลมากขึ้น มีการพัฒนาด้านภาษา ที่เน้นภาษาอังกฤษ ภาษารัสเซีย และภาษาอาระบิก เนื่องจากเมืองพัทยา มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และมารักษาพยาบาลในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จึงทำให้โรงพยาบาลต้องมีความชำนาญในด้านภาษาดังกล่าวเพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้ป่วย

ทั้งนี้ นายแพทย์พิชิต ยังกล่าวว่า การเปิดรับเออีซี ถือเป็นการเปิดโอกาสให้แพทย์และพยาบาลสามารถเคลื่อนย้ายการทำงานไปในแต่ละประเทศต่างๆได้อย่างอิสระมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คาดว่าแพทย์ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะไม่ย้ายไปทำงานนอกประเทศ เนื่องจากมีรายได้ และความคุ้มค่าที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อีกทั้งยังทำให้พยาบาลจากต่างประเทศ เช่น พม่า และฟิลิปปินส์ เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่จะมีพยาบาลเก่งทางด้านภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นด้วย

"ทางโรงพยาบาลได้รับพยาบาลจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้ประสานงาน เนื่องจากในระยะแรกมีปัญหาเรื่องใบประกอบวิชาชีพ ที่พยาบาลเหล่านั้นไม่มี แต่เมื่อให้ไปเป็นผู้ประสานงาน ทำให้สื่อสารกับผู้ที่มาติดต่อจากประเทศต่างๆ ดีขึ้น เพราะมีการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทางโรงพยาบาลยังมีการพัฒนาด้านความเข้มแข็งขององค์กร เพื่อป้องกันการเทกโอเวอร์ของธุรกิจโรงพยาบาลด้วย" นายแพทย์พิชิต กล่าว

สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ นายแพทย์พิชิต กล่าวว่า โรงพยาบาลยังคงเน้นพัฒนาศักยภาพทาง การแพทย์ใน 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์หัวใจ ศูนย์สมองและ ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ โดยจะเน้นการประชาสัมพันธ์ด้านศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ป่วยชาวรัสเซียเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลจะใช้จุดเด่นของเมืองพัทยา ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และยังมีชุมชนรัสเซียที่ชาวรัสเซียเข้าอาศัยอยู่ในเมืองพัทยามากกว่า 35,000 คน เป็นช่องทางในการสื่อสาร โดยสถิติผู้เข้ารักษาพยาบาลในช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยชาวรัสเซียเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลมากเป็นอันดับ1ของผู้ป่วยชาวต่างชาติ ซึ่งถือได้ว่าโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เป็นโรงพยาบาลที่รักษาชาวรัสเซียได้ดีที่สุดในเอเชีย ดังนั้น ในปี 2555 นี้จึงตั้งเป้าเติบโตจากปี 2554 ประมาณ 14 % โดยคาดว่ามีตัวเลขผลประกอบการรวมที่ 3.2 พันล้านบาท

เจาะผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม

ด้าน นายปราโมทย์ หิรัญจารุวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารโรงพยาบาลเจ้าพระยา กล่าวว่า เวลานี้ทางโรงพยาบาลมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ปี 2558 อย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นปี 2555นี้ ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของ รายได้อยู่ที่10-15% ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ อย่างแน่นอน เนื่องจากในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 7-8% และโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ของทุกๆ ปี โรงพยาบาลจะมีอัตราการเติบโตของรายได้สูงสุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1, 2 และ4 ของปีเดียวกัน

"ผู้ที่เดินทางเข้ามาใช้บริการ หรือกลุ่มลูกค้าจะเป็นผู้ป่วยชาวไทย 95% และชาวต่างชาติ 5% โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ และมีกำลังซื้อ ตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป เนื่องจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาเป็นโรงพยาบาลเอกชน ที่ผู้ป่วยจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลในราคาที่แพงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ป่วยก็จะได้รับความสะดวกสบายอย่างครบครัน ทั้งด้านบริการอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย และความรวดเร็วในการรักษาพยาบาล" นายปราโมทย์ กล่าว

ทั้งนี้ นายปราโมทย์ ยังกล่าวว่า ปีนี้โรงพยาบาลยังคงเน้นการประชาสัมพันธ์ศูนย์แพทย์เฉพาะทาง 24 ชั่วโมง ทั้งในด้านศูนย์หัวใจ 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลเด็กเจ้าพระยา โดยเฉพาะศูนย์แพทย์เฉพาะทางเที่ยงคืน ในด้านศูนย์อายุรกรรม และศูนย์สูตินรีเวชอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นจุดเด่นของโรงพยาบาล ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการ ในการรักษาผู้ป่วยในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในอาการป่วยดังกล่าวได้ทันท่วงที

อีกทั้งยังส่งเสริมการประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลเด็กเจ้าพระยาให้มากยิ่งขึ้น เพราะตั้งแต่ทำการเปิดให้บริการมีอัตราการเติบโตกว่า 50-70% เนื่องจากผู้ปกครองของผู้ป่วยเด็กๆ มั่นใจในด้านการแพทย์ และการรักษาพยาบาล จึงทำให้ให้ช่วงที่ผ่านมามีผู้ป่วยเด็กเข้ามารักษาในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เดือนสิงหาคมนี้ ทางโรงพยาบาลมีแผนเปิดศูนย์ผู้มีบุตรยาก โดยใช้งบประมาณการลงทุนกว่า25-30 ล้านบาทในการขยายศูนย์ดังกล่าว รวมถึงการจัดทำห้องแล็บภายใน การสั่งซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย นอกจากนี้ ยังได้ทำการขยายอาคารใหม่จำนวน 4 ชั้นเพิ่มขึ้น ภายในจะแบ่งเป็นศูนย์หลัก และห้องแล็บ ที่ใช้ระบบบาร์โค้ดซึ่งเป็นระบบใหม่ในการวินิจฉัยผลการตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ แทนการเขียนข้อมูลด้วยมือ เพื่อช่วยให้ผลการตรวจออกมาถูกต้อง และแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลของผู้ป่วยที่เข้ามารักษาด้วย

สำหรับการพัฒนาด้านบุคลากรนั้นนายปราโมทย์กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้ส่งแพทย์ไปเข้ารับการฝึกอบรม และเทรนนิ่งในต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาทางด้านภาษา เพื่อให้แพทย์มีความรู้ ความชำนาญ และเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยโรงพยาบาลจะมีการจัดสรรงบประมาณในส่วนดังกล่าวขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปีเพราะจะได้เป็นการพัฒนาบุคลาการของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งนายปราโมทย์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ปี 2558 ว่า โรงพยาบาลในประเทศไทยมีคุณภาพและมาตรฐานทั้งในระดับชาติและระดับสากล สามารถรองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลได้ในจำนวนมาก โดยเฉพาะแพทย์ของไทยมีความชำนาญ และเชี่ยวชาญในการรักษาพยาบาล สามารถแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซียได้ รวมถึงคุณภาพด้านการให้บริการ ที่ผู้ป่วยชาวต่างชาติต่างยกให้ประเทศไทยเป็นเลิศในเรื่องการให้บริการมาตลอดอย่างต่อเนื่องดังนั้น จึงคาดว่าเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็จะยิ่งทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลของไทยเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ขณะที่โรงพยาบาลระดับกลางควรมีการพัฒนาด้านบุคลากร ในด้านการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย แพทย์ที่ทำงานอยู่ในไทยส่วนใหญ่จะไม่ย้ายไปทำงานต่างประเทศ เพราะรายได้และความคุ้มค่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ 23 มิ.ย. 55