เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่กรมประชาสัมพันธ์ นพ.ชัย กฤติยาภิชาติกุล ผู้แทนองค์การอนามัยโลก แถลงข่าว "ถอดรหัสพัฒนาสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ" ว่า แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง 36 ล้านคน โดยตายจากสาเหตุของบุหรี่ร้อยละ 10 หรือ 6 ล้านคน ในจำนวนนี้ 6 แสนคน เป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันมือสอง ซึ่งทำให้เกิดโรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกร่วมกับรัฐบาลไทย และศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) สำรวจการใช้และได้รับควันบุหรี่ ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2554 พบว่าคนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 12.5 ล้านคน เป็น 13 ล้านคน และพบว่าการได้รับควันบุหรี่มือสองจากสถานประกอบการเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27.2 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 30.5 ในปี 2554 โดยพบว่าอัตราการได้รับควันบุหรี่ในที่สาธารณะก็เพิ่มขึ้นเช่นกันเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 40
นพ.ชัยกล่าวว่า จากการสำรวจดังกล่าว องค์การอนามัยโลกมีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การลดการบริโภคยาสูบ คือ 1.หน่วยงาน ภาครัฐที่รับผิดชอบ ต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มแข็ง และนโยบายของรัฐบาลต้องสนับสนุนการลดจำนวนการสูบบุหรี่ 2.การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีกฎหมายที่ดีอยู่แล้ว เช่น การปรับผู้สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ 2,000 บาท ที่ปัจจุบันยังไม่มีการบังคับใช้มากนัก 3.ต้องควบคุมธุรกิจยาสูบที่ปัจจุบันมุ่งเน้นทำการตลาดเชิงรุกในกลุ่มเยาวชน
ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 22 มิ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)
- 2 views