นายกรัฐมนตรี เดินหน้าสร้างความเสมอภาคการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเอดส์ ผู้ติดเชื้อกว่า 2 แสนคน และโรคไตวายเรื้อรัง เกือบ 4 หมื่นคน ปรับระบบ 3 กองทุนใช้เกณฑ์เดียวกัน ได้รับดูแลต่อเนื่องแม้เปลี่ยนสิทธิ หลังกรณีผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับบริการมาตรฐานเดียวประสบผลสำเร็จ
วันนี้( 21 มิถุนายน 2555) ที่ทำเนียบรัฐบาล กทม. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงนโยบายเรื่องการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐครั้งที่ 5 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน การดูแลระยะยาว เรื่องยา การสร้างความเสมอภาคในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยใน 3 กองทุน ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพต่อเนื่องแม้มีการเปลี่ยนสิทธิ์ และการพัฒนาบริการการแพทย์ผ่านระบบอินเตอร์เนต(Thailand eHealthcare Telemedicine CARE)
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลนำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งเดินหน้าดำเนินการในเรื่องการสร้างความเสมอภาคในดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
ขณะนี้ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รับยาต้านไวรัส 225,272 คน เป็นสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 148,357 คน หรือร้อยละ 65.9 สิทธิประกันสังคม 46,114 คน หรือร้อยละ 20.5 สิทธิข้าราชการ 12,059 คน หรือ ร้อยละ5.4 และสิทธิอื่นๆ 18,742 คน หรือร้อยละ 8.3 โดยทั้ง 3 กองทุนได้มีเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งการรักษา การบริหารยา /การเปลี่ยนสูตรยา ระบบสารสนเทศ การจัดหน่วยบริการ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนสิทธิ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา โดยมีระบบสารสนเทศกลางที่เชื่อมโยงทุกระบบและรักษาความลับผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด
ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีผู้ป่วย 38,780 คน แบ่งเป็น สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 20,077 คน สิทธิประกันสังคม 9,193 คน สิทธิข้าราชการ 8,810 คน โดย 3 กองทุนจะปรับเกณฑ์การเข้ารับบริการทดแทนไตเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยใช้มาตรฐานกลาง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย รวมถึงปรับปรุงระเบียบให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนสิทธิรักษาพยาบาลให้ได้รับการรักษาด้วยวิธีการเดิมอย่างต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนสิทธิ รวมถึงมีระบบข้อมูลสารสนเทศสำหรับประสานการรักษาการดูแลในภาวะภัยพิบัติ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ทุกกองทุนดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุดตามมาตรฐานการรักษา รวมทั้งมีการบูรณาการการป้องกันเพิ่มเข้าไปในบริการด้วย ทั้งโรคเอดส์และโรคไต การให้ความรู้ทางวิชาการ เพื่อลดผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยระดมทรัพยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ วิจัยสาเหตุการเกิดโรคเรื้อรังทั้งโรคไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
สำหรับการพัฒนาบริการการแพทย์ผ่านระบบอินเตอร์เนต(Thailand eHealthcare Telemedicine CARE)ที่เชื่อมโยงการรักษาระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)กับโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อปรึกษาแพทย์ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยขยายให้ครอบคลุมและเพิ่มการบริการให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ด้านความก้าวหน้าบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ 2,353 คน ใน 191 รพ.เอกชน ใน 50 จังหวัด แบ่งเป็นบริการผู้ป่วยนอกร้อยละ 28 และผู้ป่วยในร้อยละ 72 ใช้บริการในเขตกรุงเทพมหานครร้อยละ 42 และต่างจังหวัดร้อยละ 58 เฉลี่ยผู้รับบริการวันละ 32 คน ซึ่งการให้บริการตามโครงการนี้สามารถช่วยชีวิตประชาชนได้ ร้อยละ 92.6
ทั้งนี้ได้มีการหารือกับรพ.เอกชนเป็นระยะๆ เพื่อปรับปรุงระบบการสนับสนุนและการจัดการ เกี่ยวกับการย้ายผู้ป่วยหลังพ้นภาวะวิกฤติ และค่าใช้จ่ายหลังพ้นภาวะวิกฤติ ทิศทางที่จะดำเนินการเพื่อพัฒ
นาโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินต่อไป คือ 1.สนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขภาครัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลให้เพียงพอต่อการรับกลับ 2.พัฒนาระบบบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินและระบบการส่งต่อของประเทศ 3.ปรับปรุงการจ่ายชดเชยค่าบริการให้สะท้อนต้นทุนที่เหมาะสม
- 4 views