ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา วงการแพทย์ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการคิดประดิษฐ์หัตถการขยายหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจจนคนไข้ที่หัวใจขาดเลือดกลับมีชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ  แต่ถ้าเราลองทบทวนสถิติดูก็จะพบว่ามีผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดอีกจำนวนมากที่หมอขยายหลอดเลือดให้ไม่ทันเพราะหลายคนตายทันทีที่เกิด Heart attack หรือหลายคนอาการเพียบเกินกว่าจะขยายหลอดเลือดได้

แนวทางที่เหมาะสมกว่าจึงน่าจะอยู่ที่การหาทางทำให้เส้นเลือดแดงเลี้ยงหัวใจไม่ตีบตัน ซึ่งวงการแพทย์พบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง อาทิ  เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ความอ้วน, การสูบบุหรี่ และไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง คือ ถ้าท่านผู้อ่านไปตรวจสุขภาพแล้วพบโรคเหล่านี้หรือเกือบจะเป็นโรคเหล่านี้แล้วหาทางยับยั้งหรือรักษาอย่างเต็มที่แล้ว หัวใจก็จะไม่ขาดเลือด

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้คือ คนไทยและผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  กำลังปล่อยเนื้อปล่อยตัว กันใหญ่จนเกิดโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้น 161% คือจาก 22.3 ล้านคน ในปีค.ศ.2000 จะเป็น 58.1 ล้านคน ในปี 2030  สาเหตุโดยตรงก็คือคนเอเชียเริ่มจะอ้วนขึ้นทำให้เกิดโรคเบาหวานตามมา

พร้อมกับความอ้วนก็คือ ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจนเกิดคราบไขมันไปพอกผนังหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจจนเกิดเส้นเลือดตีบตัน  ซึ่งวงการแพทย์ก็ช่วยเป็นธุระจัดหายากลุ่มสแตตินมาช่วยลดระดับไขมัน ตั้งแต่ปีค.ศ.1990 จนเป็นยาขายดิบขายดี แต่ก็ยังมีประชาชนที่มีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเพราะไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร สแตตินที่วงการแพทย์เคยชื่นชมว่าเป็นแอสไพรินแห่งคริสตศตวรรษที่ 21 ก็เลยสู้พฤติกรรมมนุษย์ไม่ไหว หลายคนกินยาขนานนี้ไม่ได้เพราะแพ้ยาหรือไม่ก็ทนฤทธิ์ข้างเคียงของยาที่แรงเกินจะทนได้

โรคเบาหวานเป็นตัวการนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดเนื่องจากเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน บรรดาคุณหมอและทีมงานบริการคุณภาพได้พยายามอย่างเต็มที่ในการจัดกระบวนวิธีรักษาอย่างถูกต้องตามหลักวิชา แต่ผลปรากฏว่าทั่วประเทศไทยขณะนี้ไม่มีโรงพยาบาลหรือชุมชนใดที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลของคนไข้เบาหวานได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจได้เลย

เกณฑ์ที่ว่านี้คือ คนไข้คุมระดับน้ำตาลจนผลการตรวจวัดระดับฮีโมโกลบิน เอวันซี (HbA1C) ต่ำกว่า 7%

เพราะอะไรหรือครับ ? ก็เพราะตัวคนไข้ไม่ยอมปรับพฤติกรรมการกินที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงในระดับที่ควรจะเป็น เบาหวานจึงเป็นโรคที่หมอต้องยอมแพ้คนไข้ ตราบใดที่คนไข้ไม่คิดจะเอาชนะใจตัวเองคนไทยจึงต้องพยายามหาทางทำใจยอมรับและถือปฏิบัติว่า "สุขภาพเป็นหน้าที่" โรคจึงจะรักษาให้ดีขึ้นได้

 

ที่มา : แนวหน้า วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555