โรงพยาบาลกว่า 1 พันแห่งทั่วประเทศกุมขมับ ผลพวง ครม.ไม่เพิ่มงบฯต่อหัว "บัตรทอง" หวั่นกระทบบริการ-การรักษา สธ.สั่งรีดไขมันรับมือ 3 กองทุนหลัก "ข้าราชการ-หลักประกันสุขภาพ-ประกันสังคม" ผนึกกำลังสั่งซื้อยารวม หวังลดต้นทุน ด้าน "วิทยา บุรณศิริ" รมว.สธ. ยันไม่กระทบ เผยนายกฯพร้อมเพิ่มงบฯให้หากไม่พอจริง ๆ

ผลจากมติคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ วันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่อนุมัติ งบประมาณสำหรับงานหลักประกันคุณภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองประจำปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 109,718,581,300 บาท แบ่งเป็นงบฯบริการจัดการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1,211,120,300 บาท และงบฯกองทุนหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ 108,507,461,000 บาท โดยจัดสรรงบฯเหมาจ่ายรายหัว ในอัตรา 2,755.60 บาทต่อหัวประชากร (คณะกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอขอไป 2,939.73 บาท) ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายเกรงว่าจะกระทบต่อการบริหารจัดการและคุณภาพการรักษาของโรงพยาบาลที่ให้บริการตามโครงการ

ร.พ.เหนื่อย-หวั่นกระทบคนไข้

นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา เลขาธิการชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวและคงที่ไว้ที่ 2,755 บาท/หัว เท่ากับปีงบประมาณ 2555 จะส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลที่ให้บริการทั้งโรงพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นอกสังกัด สธ. ที่ให้บริการผู้ป่วยในโครงการหลักประกันคุณภาพถ้วนหน้า กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากคือ โรงพยาบาลขนาดเล็กในระดับอำเภอที่มีจำนวนประชากรในความดูแลน้อย เนื่องจากจะได้งบฯตามสัดส่วนจำนวนประชากร

ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเหล่านี้มี ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังหลาย ๆ อย่างที่ต้องดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน ฟอกไต นอกจากนี้ยังมี รายจ่ายจากการส่งต่อผู้ป่วยไปยัง โรงพยาบาลศูนย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง และที่เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งในขณะนี้คือ กำลังคนมีไม่เพียงพอ เพราะ สธ.ไม่มีการบรรจุอัตราเพิ่มมานาน หรือคนที่เกษียณออกไปก็ไม่มีตำแหน่งชดเชย หากโรงพยาบาลไหนมีความจำเป็นจะต้องทำเป็นอัตราจ้าง  ด้วยการดึงเงินบำรุงของแต่ละแห่งมาเป็นค่าจ้าง หรือโรงพยาบาลไหนมีคนน้อยก็จะไม่สามารถให้บริการ ได้อย่างทั่วถึง หรือไม่สามารถจะทำงาน เชิงรุกได้อย่างเต็มที่ เช่น การออกเยี่ยมคนไข้ตามบ้านหรือชุมชนห่างไกล

เลขาธิการชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การไม่เพิ่มงบฯต่อหัว ถือว่าสวนทางกับความเป็นจริงที่แทบทุกอย่างปรับตัว สูงขึ้น จึงทำให้การบริหารการจัดการงบฯของแต่ละโรงพยาบาลทำได้ยากขึ้น

"แม้ว่าทุกคนจะพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ก็ยังมีต้นทุนคงที่ (xed cost) อีกหลายอย่างที่ลดยาก เช่น ค่าไฟฟ้า หากเงินไม่พอก็อาจจะจ่ายเดือนเว้นเดือนได้ แต่หากเป็นบริษัทยา เดี๋ยวนี้ เมื่อโรงพยาบาลจ่ายเงินช้า เขาก็จะงด ส่งยาให้ และเราก็จะต้องวิ่งไปยืมจาก โรงพยาบาลอื่น และท้ายที่สุดจะ กระทบกับผู้ป่วยอย่างเลี่ยงไม่ได้"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีประชากรลงทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณ 49 ล้านคน และมีโรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณ 1,144 แห่ง เป็นโรงพยาบาลสังกัด สธ. 850 แห่ง โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด สธ. 83 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 211 แห่ง

ร.พ.เอกชน เข้มบริหารต้นทุน

จากการสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยัง โรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการคนไข้จากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหลายแห่ง ได้รับคำชี้แจงในทิศทางเดียวกันว่า จะส่งผลกระทบต่อทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน เพราะเม็ดเงินที่ได้รับในอัตราคงที่เท่าเดิม แต่ต้นทุนค่ายาและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น และ ทุกแห่งก็จะต้องปรับตัว สิ่งแรกที่จะควบคุมง่ายที่สุดคือการควบคุมยา รองลงมาก็คือ บุคลากรในระดับพนักงาน อาจจะเป็นการลดจำนวนพนักงานที่ดูแลคนไข้ต่อหัวลง เพื่อลดค่าใช้จ่าย

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากสำนัก การแพทย์ กรุงเทพมหานคร ที่กล่าวว่า โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 8 แห่งที่ให้บริการจะเป็นปัญหาพอสมควร เพราะว่าค่าใช้จ่าย ค่ายา ค่าตอบแทน บุคลากรที่สูงขึ้น แต่รายได้ต่อหัวที่ โรงพยาบาลจะได้รับไม่เพิ่มหรือเท่าเดิม

"ถามว่ากระทบหรือไม่ ก็กระทบพอสมควร แต่โรงพยาบาลก็ต้องเอารายได้จากส่วนอื่น ๆ เช่น รายได้จากคนไข้ทั่วไป คนไข้ประกันสังคมมาทดแทน"

นายกฯพร้อมเพิ่มงบฯ

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เรื่องนี้จะไม่ส่งผล กระทบกับการดำเนินงานและการบริการของโรงพยาบาลที่ให้บริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยขณะนี้กระทรวงได้สั่งให้โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องไปรีดไขมัน ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดซื้อยา ซึ่งกระทรวงพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ และเรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ขัดข้อง หากจะต้องเพิ่มงบฯเข้ามาอีก

ขณะที่นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า ได้ เตรียมแผนเพื่อรองรับเรื่องนี้ไว้ โดยจะเน้นการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในด้านยา ตอนนี้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยได้มอบให้ 3 กองทุน คือ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม หารือกัน ในการเจรจาต่อรองด้านการสั่งซื้อยา

สำหรับบอร์ด สปสช. ที่มีมติให้ผู้เข้าใช้บริการต้องจ่ายสมทบ 30 บาท และจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ สธ.จะนัดประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร กองทัพตำรวจ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย เพื่อแจ้งเงื่อนไขในการร่วมจ่าย 30 บาท เตรียมความพร้อมของระบบก่อนวันที่ 1 สิงหาคม โดยได้แจ้งไปยังหน่วยบริการส่วนอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ยินดีปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว

แหล่งข่าวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้คณะทำงานกำลังศึกษาว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ โดยเบื้องต้นก็คงต้องกลับมาดูว่า จะต้องปรับประสิทธิภาพและควบคุมค่าใช้จ่ายที่ทำได้ อาทิ การควบคุมการใช้ยาที่มีการใช้มากขึ้น แต่ในส่วนของบุคลากรจะควบคุมไม่มาก เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการ อย่างไรก็ตาม ครม.ก็มีมติว่า หากมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่ม ก็สามารถยื่นแปรญัตติเพิ่มงบฯรายจ่ายปี 2556 ได้

ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 - 20 มิ.ย. 2555