พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือเรียกกันติดปากว่า พ.ร.บ.บุคคลที่สามนั้น ตราเป็นกฎหมายขึ้นมาในปี 2535 ซึ่งเป็นความก้าวหน้าก้าวสำคัญของการประกันสุขภาพให้กับประชาชนในบริบทขณะนั้น

เมื่อประสบอุบัติเหตุจะได้ไม่ต้องล้วงดูเงินในกระเป๋าว่ามีหรือเปล่า ค่ารักษาพยาบาล 1.5 หมื่นบาทแรกนั้นทางบริษัทประกันภัยจะจ่ายให้โดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด ซึ่งถือเป็นหลักการที่ดียิ่ง แต่ความผิดพลาดของการออกแบบ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถในขณะนั้นคือ การให้บริษัทประกันภัยเอกชนที่มุ่งหวังผลกำไรมาทำหน้าที่ในกิจการเพื่อสาธารณะซึ่งยากที่จะทำได้ดีโดยไม่เอากำไรเกินพอดี

ปี 2555 นี้ครบรอบ 20 ปีของการมีและใช้พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ เราควรจัดงานฉลองอย่างชื่นชมเลี้ยงฉลองให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า หรือประกาศปิดฉากภารกิจที่ไปไม่ถึงฝั่งและฟากฝั่งภารกิจนั้นไว้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศที่เติบใหญ่จนเป็นที่ชื่นชมของคนทั้งโลก

ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา แนวปฏิบัติส่วนใหญ่ของการเบิกจ่ายเงินจากกองทุนผู้ประสบภัยจากรถคือ หากเป็นผู้ป่วยในที่รับไว้นอนโรงพยาบาลทางโรงพยาบาลจะให้ทางญาติเตรียมเอกสารมากมายให้พร้อม แล้วทางโรงพยาบาลตรวจสอบและเบิกจากบริษัทประกันให้เอง ซึ่งจะได้คืนมากน้อยหรือไม่ได้คืนเลยก็ขึ้นกับความครบถ้วนของหลักฐาน

แต่หากเป็นผู้ป่วยนอกที่บาดเจ็บไม่มาก เมื่อรับการรักษาแล้วกลับบ้านได้ โรงพยาบาลต่างๆมักจะเก็บค่ารักษาและออกใบเสร็จให้ผู้ป่วยพร้อมคำแนะนำการเตรียมเอกสารให้ผู้ป่วยไปเบิกเองจากบริษัทประกัน ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็เบื่อหน่ายกับความยุ่งยากในการเตรียมเอกสาร

การไปยื่นเบิกเงินคืนแล้วก็ถอดใจตั้งแต่ต้นถือว่าฟาดเคราะห์ เจ็บตัวแล้วยังต้องไปแจ้งความ จัดการเอกสาร กรอกแบบฟอร์ม รอติดต่อไปที่บริษัทประกันในตัวจังหวัด หลักฐานไม่ครบเดินเข้าออกหลายหน เสียเวลาทำมาหากิน แผลก็เจ็บ เดินก็กะเผลก

สุดท้ายค่าใช้จ่าย เวลาและแรงที่ลงไปไม่รู้ว่าจะคุ้มกับเงินสินไหมทดแทนที่ได้คืนมาหรือเปล่า อุปสรรคเหล่านี้ไม่ได้รับการใส่ใจแก้ไขเพราะยิ่งอุปสรรคมากบริษัทประกันก็ยิ่งมีกำไรนั่นเอง

วงเงินการจ่ายสินไหมทดแทนในปัจจุบันกรณีบาดเจ็บคือ ไม่เกิน 5 หมื่นบาทโดยส่วนแรก 1.5 หมื่นบาทแรกนั้นไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด และส่วนหลังอีกไม่เกิน 3.5 หมื่นบาทนั้นต้องพิสูจน์ถูกผิดรวมเป็นเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 5 หมื่นบาทนั้น หากผู้บาดเจ็บเป็นฝ่ายผิดก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนหลัง แต่กว่าจะพิสูจน์ถูกผิดเสร็จผู้ป่วยนั้นกลับบ้านไปนานแล้ว

หากบริษัทประกันหรือในทางคดีบอกว่าผู้ป่วยผิด ทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้รับเงินในส่วนนั้น ต้องไปไล่ตามเก็บเอาจากรถคู่กรณี ซึ่งปกติก็ยากที่ทางโรงพยาบาลจะไปทำเช่นนั้น จึงทำให้โรงพยาบาลจะได้เงินเพียง 1.5 หมื่นบาทแรกเป็นส่วนมากเท่านั้น

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือผู้ประสบเหตุความไม่สงบก็ไม่ค่อยได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่ควรจะได้ ภาษาชาวบ้านนั้นเรียกว่า "เข้าเนื้อ" นั่นเอง

ตั้งแต่ปี 2545 เมื่อประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เริ่มด้วยนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคในขณะนั้น

ยิ่งเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประกาศนโยบายผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินจากทั้งสามกองทุนหลักเข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้ทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่ต้องมีการไถ่ถามดูว่ามีสิทธิของบัตรอะไรของโรงพยาบาลไหน แต่ปรากฏว่ากองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกลับตกขบวน หรืออาจจงใจตกขบวน

แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่เห็นความกระตือรือร้นของความพยายามที่จะร่วมขบวนเลย ซึ่งก็เข้าใจได้อยู่เพราะหากร่วมขบวนเมื่อไหร่ยิ่งเบิกมากก็ยิ่งกำไรน้อยลง ซึ่งโดยหลักการ 1.5 หมื่นบาทแรกนั้น กองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนั้นต้องจ่ายอยู่แล้ว แต่เพราะในความเป็นจริง เงินเมื่อเข้าไปตั้งรอในกระเป๋าบริษัทประกันภัยเอกชนแล้ว จะจ่ายออกมานั้นยากเย็นและยุ่งยากอย่างยิ่ง ยิ่งจ่ายยากยิ่งจ่ายช้าก็หมายถึง กำไรกระเป๋าตุงของผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของบริษัทนั่นเอง

เงินค่าประกันบุคคลที่สามที่เก็บเข้าระบบกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาทได้นำมาจ่ายค่าสินไหมทดแทนค่ารักษาค่ายาให้กับโรงพยาบาลไม่ถึงครึ่ง อีกเกือบ 5,000 ล้านบาทนั้น ถูกเรียกว่าค่าบริหารจัดการ เอกชนที่ควรมีประสิทธิภาพในการบริหารที่สูงยิ่ง กลับใช้เงินบริหารจัดการมากมายซึ่งไม่จริง แต่ที่แท้จริงคือกำไรเนื้อๆ เข้ากระเป๋าของเจ้าของกิจการ ส่วนชาวบ้านอาจควักกระเป๋าฟาดเคราะห์เชื่อว่าเป็นหมื่นล้านบาทต่อปีเช่นกัน

ปีนี้ครบรอบ 20 ปี การสถาปนากองทุนผู้ประสบภัยจากรถ น่าจะถึงเวลาตัดสินใจ ไม่ว่าจะคิดใหม่ทำใหม่ คิดไปทำไป แต่จะคิดอย่างไรก็ไม่ควรทิ้งให้เป็นเช่นนี้อีกต่อไป สังคมไทยน่าจะมีทางเลือกเดียวคือ ยกเครื่องรื้อทั้งระบบ

หัวใจของการยกเครื่องใหม่คือการเปลี่ยนจากการให้บริษัทประกันเอกชนบริหารจัดการมาให้หน่วยงานกลางที่ไม่แสวงหากำไรบริหารจัดการแทนโดยภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งหากไม่อยากจะตั้งหน่วยงานใหม่ให้เปลืองงบประมาณก็ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช. บริหารจัดการน่าจะมีความเหมาะสมอย่างที่สุด ความคิดพื้นที่ที่ต้องยกเครื่องเพราะ20 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ว่า ประชาชนไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร และเม็ดเงินทำกำไรนั้นเข้าแล้วยากที่จะออกจากกระเป๋าภาคเอกชน

เมื่อยกเครื่องให้สปสช.เป็นองค์กรบริหารการที่จะให้ประชาชนไปซื้อประกันภัยบุคคลที่สามหน้าสำนักงานขนส่งเพื่อต่อทะเบียนรถก็หมดความจำเป็น โดยให้สำนักงานขนส่งเก็บเงินค่าประกันภัยบุคคลที่สามแทนรวมกับค่าต่อทะเบียน ซึ่งประชาชนก็เสียเงินเท่าเดิม แล้วเงินก้อนนี้ก็นำส่งคลังเพื่อส่งต่อให้สปสช.บริหารจัดการในยามที่ประชาชนทุกคนเกิดอุบัติเหตุจราจรต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักทฤษฎีการร่วมจ่ายค่าประกันอุบัติเหตุจากผู้ใช้รถ โดยไม่ควรยกเลิกการร่วมจ่าย เพียงแต่เปลี่ยนจากจ่ายให้บริษัทประกันภัยบริหารจัดการมาให้ สปสช.บริหารจัดการเท่านั้น

ผลงานชิ้นนี้ทำง่ายกว่า พ.ร.บ.ปรองดองและการแก้รัฐธรรมนูญ เกิดประโยชน์กับประชาชนชนิดที่สัมผัสได้ ไม่ต้องใช้งบประมาณเหมือนการซื้อเครื่องอัลตราซาวด์หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นนโยบายที่ไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว เพียงแค่แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น

ความยากมีข้อเดียวคือ ทางรัฐบาลจะกล้าแตะภาคเอกชนที่ตนมีสายสัมพันธ์และการเอื้อประโยชน์กันอยู่หรือไม่ต่างหาก

ก้าวเล็กๆ ง่ายๆ ก้าวนี้เพื่อสุขภาพคนไทยจึงแสนยากเย็นไม่ถึงไหนมาหลายรัฐบาล

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ 15 มิ.ย. 55